xs
xsm
sm
md
lg

"สมคิด"กำชับลงทุน ห้ามสร้างหนี้ท่วมหัว สั่งเร่งปลดแบนการบิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"สมคิด"กำชับคมนาคมจัดลำดับลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งกรอบความยั่งยืนทางการคลังใน 5 ปี ภาระหนี้ต่อจีดีพีต้องไม่เกิน 50% เน้นร่วมทุนเอกชนเพื่อลดภาระภาครัฐ พร้อมสั่งเดินหน้าโครงข่ายคมนาคม หนุนไทยเป็นฮับ AEC เร่งยกระดับนิคมแหลมฉบังเป็นซุปเปอร์อีสเทิร์นซีบอร์ด ส่วนรถไฟไทย-จีน เดินหน้าตามข้อตกลงเดิม จี้เร่งปลด SSC การบิน ด้าน "อาคม" ปรับแผนตรวจสอบสายการบิน เชิญ ICAO ตรวจซ้ำเม.ย.59 เร็วขึ้นจากเดิมส.ค.59

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการทำงานให้กระทรวงคมนาคม วานนี้ (9 ก.ย.) ว่า ตามแผนโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีมูลค่าสูง และหากรวมกับโครงการลงทุนของกระทรวงอื่นๆ จะยิ่งมีมูลค่ามหาศาลหลายล้านล้านบาท จึงได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมจัดลำดับการลงทุนโครงการก่อนหลังให้เหมาะสม และเพื่อสร้างความมั่นใจ ซึ่งต่อจากนี้จะเป็นเรื่องการขับเคลื่อนเชิงปฏิรูป โดยเป็นการลงทุนด้านคมนาคมโครงสร้างพื้นฐานโดยใน 5 ปีข้างหน้า จะต้องวางกรอบความยั่งยืนทางการคลัง จากงบประมาณที่ลงทุน โดยภาระหนี้ต่อจีดีพีต้องไม่เกิน50% แม้ว่ามาตรฐานทั่วโลกจะอยู่ที่ 60% แต่ไทยจะต้องพยายามควบคุมให้ได้ในกรอบดังกล่าว เพื่อไม่ให้การลงทุนโครงการจำนวนมากแล้วทำให้การเงินอ่อนแอ

ทั้งนี้ ในกรอบความความยั่งยืน หากเดินหน้าเฉพาะโครงการคมนาคม คงไม่มีปัญหา เพราะมูลค่าลงทุน 2 ล้านล้านบาท จีดีพีไม่เกิน 50% อยู่แล้ว แต่ประเทศไทยยังมีโครงการลงทุนในส่วนของกระทรวงอื่น ดังนั้น ต้องจัดระเบียบการลงทุน และต้องมีการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบรัฐและเอกชนลงทุนร่วมกัน (Public private Partnership : PPP) เพื่อลดภาระของรัฐบาลและเป็นแนวทางที่สามารถลงทุนได้รวดเร็ว ซึ่ง PPP นั้น ไม่ได้หมายถึงรัฐบาลลงทุนส่วนใหญ่แล้วเหลืองานส่วนน้อยให้เอกชนลงทุน แต่ควรเป็นการร่วมทุนในPPP รูปแบบอื่นๆ ที่มีเงื่อนไขจูงใจเอกชนเข้ามาลงทุน โดยรัฐได้ประโยชน์สูงสุด การประมูลเป็นไปอย่างโปร่งใส

นายสมคิดกล่าวว่า ส่วนการร่วมทุนกับประเทศจีน ญี่ปุ่น หรือสหรัฐ ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ไทยได้ประโยชน์ เช่น ได้รับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำ หากการกู้เงินจากต่างประเทศมีดอกเบี้ยสูงกว่าในประเทศ จะต้องปรับมาใช้เงินกู้ในประเทศในสัดส่วนที่เหมาะสม หรือบางโครงการมีศักยภาพสามารถจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมาดำเนินการได้ก็ต้องทำ โดยมอบหมายให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม หารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อหาแนวทางหรือเงื่อนไขที่จูงใจประชาชนให้เข้ามาซื้อกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพราะที่ผ่านมา ได้รับความสนใจน้อย เพราะการตอบแทนผลประโยชน์ใช้เวลานาน

นอกจากนี้ ได้ฝากให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาโครงการที่เป็นส่วนสนับสนุนการเชื่อมต่อภายในประเทศเพื่อรองรับและทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางAEC เพื่อเกิดประโยชน์กับประเทศสูงสุด รวมถึงการวางโครงข่ายคมนาคมเพื่อสนับสนุนคลัสเตอร์ในอุตสาหกรรมกลุ่มต่างๆ เช่น คลัสเตอร์นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังหรืออีสเทิร์นซีบอร์ด ที่มีการลงทุนเป็นแสนล้านบาท และในอนาคตจะมีการแข่งขันสูงทั้งจากเวียดนาม อินโดนีเซีย ดังนั้น จะต้องปรับให้เป็นซุปเปอร์คลัสเตอร์ โดยมีโครงสร้างพื้นฐานทันสมัย มีสิ่งจูงใจให้นักลงทุนเดิมอยู่ต่อและดึงดูดนักลงทุนใหม่เพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องมีการพัฒนาถนน สนามบิน ท่าเรือ คลังสินค้า ระบบโลจิสติกส์ เป็นต้น

นายสมคิด กล่าวอีกว่า กระทรวงคมนาคมต้องเร่งแก้ปัญหาข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (SSC) กรณีที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้ตรวจสอบกรมการบินพลเรือน (บพ.) และการที่ทางสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหภาพยุโรป หรือเอียซ่า (EASA) จะมาตรวจสอบอีกครั้งในวันที่ 14 ก.ย.นี้ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับการตรวจสอบดังกล่าวเพราะหากสอบตกอีกจะเป็นปัญหา

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมกล่าวว่า จะต้องจัดลำดับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายหลักมี 3 เรื่องหลัก คือ 1.ขับเคลื่อนโครงการสำคัญเพื่อเสริมสร้างศักยภาพประเทศด้วยความรอบคอบและคุ้มค่าการลงทุน 2.เพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชนในเมืองและในชนบท 3.การส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง ในขณะเดียวกันจะต้องบริหารจัดการแหล่งเงินทุนให้เหมาะสม ซึ่งนโยบายต้องการลดภาระการลงทุนภาครัฐ โดยเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนมากขึ้น ซึ่งจะมีการพิจารณาว่ามีโครงการใดที่สามารถร่วมทุนกับเอกชนPPPได้

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าเป็นการลงทุนแบบ PPP แล้ว โดยรัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานงานโยธา และเอกชนเข้ามาลงทุนด้านการเดินรถ โดยมีรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง รถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-ระยอง และกรุงเทพ-หัวหินที่จะให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนทั้ง งานโยธาและเดินรถแบ PPP เต็มโครงการ 100%

ส่วนการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานนั้น เดิมจะใช้ในโครงการมอเตอร์เวย์ เพราะมีความเป็นไปได้ แต่มีประเด็นพิจารณาเรื่องระดมทุน รัฐต้องการันตีผลตอบแทนตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งเป็นจุดอ่อนสำหรับโครงการคมนาคมที่มีมูลค่าสูงผลตอบแทนทางการเงินต่ำ ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมสูง รัฐจึงต้องรับภาระลงทุน ทำให้มอเตอร์เวย์ต้องปรับไปใช้เงินกู้ เพื่อให้สามารถเริ่มต้นโครงการได้ก่อน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นใจการลงทุนและกับประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเมื่อรัฐลงทุนไปได้ระยะหนึ่งสามารถที่จะปรับมาตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานและถ่ายโอนจากรูปแบบเดิมไปได้

สำหรับการสนับสนุนคลัสเตอร์อุตสาหกรรม โดยเฉพาะการยกระดับอีสเทิร์นซีบอร์ดเป็นซุปเปอร์อีสเทิรน์ซีบอร์ดนั้น พื้นที่เดิม จ.ชลบุรีและระยอง เต็มแล้วจะมีการขยายพื้นที่ออกไป จ.ฉะเชิงเทรา , ปราจีนบุรี , นครนายก , สระแก้ว โดยจะต้องวางแผนงานโครงข่ายคมนาคมขนส่ง เพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบสายการบิน (Re-certification) 28 สายการบินนั้น อยู่ในขั้นตอนของการส่งเอกสาร ซึ่งจะหมดเขตวันที่ 31 ต.ค. และจะเริ่มกระบวนการตรวจสอบ ในวันที่ 1 ก.ย. 2558 เป็นต้นไป และจะมีการปรับแผนการปลด SSC ให้เร็วขึ้นจากเดิมโดยจะขอให้ทาง ICAO มาตรวจซ้ำ หรือ ICVM Audit ในเดือนเม.ย.2559 จากเดิมเดือนส.ค.2559
กำลังโหลดความคิดเห็น