“อาคม” คาดตั้งบริษัทร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่น เดินรถไฟตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกตอนใต้ (กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง-อรัญประเทศ) ได้ในต้นปี 59 พร้อมเปิดทางเอกชนร่วมถือหุ้น ขณะที่ญี่ปุ่นเตรียมส่งบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถไฟฟ้าและลอจิสติกส์ร่วมถือหุ้น ชูยุทธศาสตร์คมนาคมขนส่งตามแนว E-W Corridor ด้านบน-กลาง-ล่าง เชื่อมเดินทางระหว่างภาคสะดวกรวดเร็ว
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้รายงานความคืบหน้าแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งตามแนวตะวันออก-ตะวันตก (E-W Corridor) ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ซึ่งนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เห็นว่าเป็นโครงการที่มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ และต้องการให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางรถไฟแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกตอนใต้ (Lower East-West Corridor) เส้นทางกาญจนบุรี (บ้านพุน้ำร้อน)-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง และกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ ระยะทาง 574 กม. ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ลงนามในร่างบันทึกความร่วมมือ (MOC) กับกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 26 พ.ย. และภายในเดือน ม.ค. 2559 จะสรุปการหารือเรื่องแนวทางการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อบริหารการเดินรถ ซึ่งได้มอบหมายให้นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เร่งเสนอแนวทางการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. และกระทรวงคมนาคม เพื่อหารือกับญี่ปุ่นเพื่อสรุปเรื่องสัดส่วนหุ้นและขอบเขตของธุรกิจของบริษัทร่วมทุนภายในต้นปี 2559
ทั้งนี้ บริษัทเดินรถดังกล่าวจะเป็นบริษัทลูกของ ร.ฟ.ท. โดย ร..ฟ.ท.จะถือหุ้นไม่เกิน 49% เพื่อไม่ให้เป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะบริษัทฯ ต้องมีความคล่องตัวในการบริหารการเดินรถ การลงทุนจัดหารถเพิ่มเติม และการทำธุรกิจ ทำการตลาด ที่มีประสิทธิภาพ โดยจะเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมทุนด้วย ขณะที่ทางญี่ปุ่นจะส่งบริษัทรายใหญ่กลุ่มผู้ผลิตรถไฟฟ้า กลุ่มขนส่งลอจิสติกส์ที่ทำธุรกิจในประเทศไทยเข้ามาร่วมทุน
นายอาคมกล่าวว่า แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกตอนใต้ (Lower East-West Corridor) เส้นทางกาญจนบุรี (บ้านพุน้ำร้อน)-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง และกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ ขณะนี้ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างปรับปรุงเส้นทางช่วงฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ พร้อมทั้งจะมีการก่อสร้างเส้นทางช่วงที่ขาดประมาณ 42 กม. แบ่งเป็นช่วงจากกาญจนบุรี-พุน้ำร้อน ระยะทาง 26 กม. และช่วงอรัญประเทศ-คลองลึก ระยะทาง 6 กม. และนอกจากการพัฒนาเส้นทางรถไฟแล้วยังมีมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี-พุน้ำร้อนอีกด้วย เป็นเส้นทางสำคัญเนื่องจากผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 เขต คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (พม่า) เขตเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี ซูเปอร์คลัสเตอร์อีสเทิร์นซีบอร์ด เขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว และเชื่อมท่าเรือน้ำลึก 2 แห่ง คือ ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือทวาย
ส่วนแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกด้านบน แม่สอด-เพชรบูรณ์-บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 910 กม. ปัจจุบันมีโครงข่ายถนนจากแม่สอด-มุกดาหาร ระยะทาง 777 กม. ซึ่งมีการปรับปรุงเป็น 4 ช่องจราจรเกือบตลอดเส้นทางแล้ว โดยกำลังก่อสร้างช่วงพิษณุโลก-หล่มสัก ระยะทาง 36 กม. คาดแล้วเสร็จต้นปี 59 ช่วง กาฬสินธุ์-นาไคร้ ตอน 1 ระยะทาง 7.9 กม. ช่วงกาฬสินธุ์-นาไคร้ ตอน 2 ระยะทาง 71.4 กม. รองบประมาณปี 59 ช่วงนาไคร้-คำชะอี ระยะทาง 36 กม. วงเงิน 2,400 ล้านบาท จะดำเนินการในปี 60-62 ส่วนช่วงหล่มสัก-น้ำหนาว ตอน 1 ระยะทาง 11 กม. รองบปี 59 ปัจจุบันอยู่ในขั้นพิจารณา EIA เนื่องจากตัดผ่านพื้นที่อุทยาน
สำหรับแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ตอนกลาง ได้มีการเตรียมศึกษาเส้นทางรถไฟทางคู่ ช่วงแม่สอด-นครสวรรค์-บ้านไผ่-นครพนม อีกด้วย
นายอาคมกล่าวว่า เส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกถือเป็นโครงการที่มีความสำคัญสูงในลำดับต้น และมีความเป็นไปได้เนื่องจากมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ของประเทศไทยและพม่า โดยเป็นเส้นทางเชื่อมการเดินทางระหว่างภาคต่อภาคโดยไม่ต้องผ่านกรุงเทพฯ