"อาคม"ยันรถไฟไทย-จีน เจรจาตามกรอบข้อตกลง ไม่ล่าช้า เตรียมประชุมครั้งที่ 9 วันที่ 3 ธ.ค.นี้ตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดการออกแบบก่อนทำรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมฉบับปรับปรุงคาดเสร็จในม.ค.-ก.พ.59 พร้อมคุยสรุปดอกเบี้ยด้วย ชี้ลงทุนสูงต้องรอบคอบ ส่วนรถไฟไทย-ญี่ปุุ่น( กาญจนบุรี-แหลมฉบัง-อรัญประเทศ) ม.ค.59ญี่ปุ่นจัดมินิคอนเทนเนอร์ 3 ตู้ทดลองขนสินค้า เผย ผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 แห่ง เชื่อบูมแน่
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน เส้นทางโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย, แก่งคอย-มาบตาพุด, แก่งคอย-โคราช, โคราช-หนองคาย ระยะทาง 873 กม. ขณะนี้ถือว่า การดำเนินงานเป็นไปตามกรอบการทำงานร่วมกัน ไม่ได้ล่าช้า
โดยคณะทำงานของกระทรวงคมนาคมได้หารือตรงกับทางผู้อำนวยการคณะกรรมการ พัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) ที่ปักกิ่ง ซึ่งในข้อตกลงความร่วมมือ ทางไทยได้สงวนสิทธิ์ในการตรวจสอบราคาค่าก่อสร้างอย่างละเอียด ซึ่งหลังจากการหารือครั้งที่ 8 ที่ปักกิ่ง ทางจีนยังติดค้างรายละเอียดข้อมูลอีกหลายข้อ รวมถึงรายละเอียดการออกแบบโดยตกลงที่จะส่งมอบให้ครบภายในเดือนธ.ค.นี้
ทั้งนี้จะการประชุมความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 9 ในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ ที่ประเทศไทยนั้นจะเป็นการติดตามข้อมูลที่ยังไม่ครบถ้วน โดยในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.59 จะเป็นการสรุปรายละเอียดและทำรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมฉบับปรับปรุง ซึ่งจะรู้ตัวเลขเงินลงทุนทั้งหมด รายละเอียดในส่วนของค่าก่อสร้างการแบ่งสัดส่วนเงินลงทุน เงินกู้ ซึ่งจะสามารถสรุปเรื่องอัตราดอกเบี้ยได้ ส่วนเรื่องที่ปรึกษาโครงการ ที่ปรึกษาทางการเงิน ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ดำเนินการว่าจ้างเรียบร้อยแล้ว และได้ทำการตรวจสอบข้อมูลค่าก่อสร้างที่จีนส่งมาให้
"เราไม่ได้ช้า ทุกอย่างยังอยู่ในกระบวนการ โครงการนี้ใช้เงินลงทุนสูง คงใช้วิธีเขียนใบสั่งซื้อสินค้าก่อนแล้วค่อยมาคิดราคากันทีหลังไม่ได้ ต้องมีความมั่นใจในรายงานการศึกษาดังนั้นต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบ มีหลายเรื่องที่ถามเพิ่มเติม เช่น ค่าขนส่งทางรางปัจจุบัน 2.02 บาทต่อตัน ผลศึกษาของจีนเสนอ 2.80 บาทต่อตันแบบนี้ไม่น่าตะเป็นไปได้ ก็ต้องถามกลับไปซึ่งถือเป็นการทำงานของจีนครั้งแรกที่มีการลงรายละเอียดมากกว่าที่จีนไปร่วมมือกับหลายประเทศ"นายอาคมกล่าว
นายอาคมกล่าวว่า การลงนามในร่างบันทึกความร่วมมือ (MOC : Memorandum of Cooperation) ระหว่าง กระทรวงคมนาคม กับ กระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาเส้นทางรถไฟแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตกตอนใต้ (Lower East – West Corridor) เส้นทางกาญจนบุรี (บ้านพุน้ำร้อน) – กรุงเทพฯ – แหลมฉบังและกรุงเทพฯ –อรัญประเทศ ระยะทาง 574
กม. โดยจะเป็นการปรับปรุงทางรถไฟเดิมขนาดราง 1 เมตร (Meter Gauge) ให้มีความมั่นคงแข็งแรงมากขึ้นพร้อมทั้งก่อสร้างเส้นทางช่วงที่ขาดประมาณ 42 กม. แบ่งเป็นช่วงจาก จากาญจนบุรี-พุน้ำร้อน ระยะทาง 26 กม.และช่วง อรัญประเทศ-คลองลึก ระยะทาง 6 กม.ถือเป็นโครงการที่มีความสำคัญสูงในลำดับต้นและมีความเป็นไปได้เนื่องจากมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ของประเทศไทยและเมียนมา เนื่องจากเส้นทางผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 เขต คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (เมียนมา) เขตเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี ซุปเปอร์คลัสเตอร์อีสเทิร์นซีบอร์ด เขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว และเชื่อท่าเรือน้ำลึก2 แห่ง คือ
แหลมฉบังกับทวาย
โดยในระหว่างนี้ได้มีการปรับปรุงเพื่อเพิ่มความมั่นคงแข็งแรงของเส้นทางแล้ว และในเดือนม.ค. 2559 ทางญี่ปุ่นจะจัดตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 12 ฟุตจำนวน 3 ตู้เข้ามาทดลองเดินรถขนส่งสินค้าเส้นทาง หนองปลาดุก-ท่าเรือแหลมฉบัง จากนั้น ไทยและญี่ปุ่นจะร่วมตั้งบริษัทบริหารการเดินรถซึ่งจะลงทุนในเรื่องการเดินรถการจัดหาขบวนรถเพิ่มและการยกระดับจากทางเดี่ยวเป็นทางคู่