xs
xsm
sm
md
lg

ท่าเรือแหลมฉบังทุ่มกว่า 5 พันล้านเพิ่มศักยภาพใน 5 ปี-เตรียมพัฒนาเฟส 3

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ท่าเรือแหลมฉบังเปิดแผนพัฒนาระยะ 5 ปี ทุ่มลงทุนกว่า 5 พันล้านสร้างท่าเทียบเรือ A, พัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ และปรับปรุงแก้ไขปัญหาจราจร เพิ่มประสิทธิภาพรองรับตู้สินค้าเพิ่มเฉลี่ย 5% ต่อปี คาดปี 65 สินค้าสูงถึง 9 ล้าน TEU พร้อมเตรียมแผนพัฒนาเฟส 3 เพิ่มศักยภาพบูรณาการร่วมขนส่งทุกโหมด มุ่งเป็นฮับลอจิสติกส์อาเซียน

ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานเสวนาระดมความคิดเห็น “การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังอย่างยั่งยืน” ว่า เป็นการนำเสนอข้อมูลแผนการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมโดยรอบท่าเรือแหลมฉบังในทุกโหมด ทั้งระบบราง ระบบถนน และทางทะเล ภายใต้กรอบแผนพัฒนาวิสาหกิจ 5 ปี โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ

โดยปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) งบลงทุนรวม 1,864.19 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างและจัดหาเครื่องมือยกขน คาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ในเดือน ธ.ค. 2558 และเปิดให้บริการได้ภายใน พ.ศ. 2561 สามารถรองรับตู้สินค้าได้ 300,000 TEU/ปี, โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator : SRTO) งบลงทุนรวม 2,944.93 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสรรหาผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยมีระยะเวลาในการก่อสร้าง 18 เดือน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2561 และจะพัฒนาโครงการในระยะที่ 2 ประมาณ พ.ศ. 2564-2565

โครงการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือแหลมฉบัง โดยเพิ่มช่องทางผ่านประตูตรวจสอบสินค้าและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะทำให้มีจำนวนช่องทางผ่านประตูตรวจสอบสินค้ารวม 36 ช่องทาง สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ที่ระดับ 10-11 ล้าน TEU/ปี

นอกจากนี้ ยังมีแผนการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังในระยะยาว เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 ซึ่งจากผลการศึกษาวิเคราะห์ควรจัดเตรียมการพัฒนาขั้นที่ 3 เมื่อท่าเรือแหลมฉบังในขั้นที่ 1 และ 2 มีปริมาณตู้สินค้าที่ 80% จากขีดความสามารถรองรับที่ 10-11 ล้าน TEU/ปี โดยในปี 2557 ท่าเรือแหลมฉบังได้รับการยอมรับให้เป็นท่าเรือที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีตู้สินค้าผ่านมากที่สุดถึง 6.45 ล้าน TEU ถือเป็นอันดับที่ 23 ของโลก และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5% ต่อปี ส่งผลให้ในปี 2565 จะมีปริมาณสินค้าสูงถึง 9 ล้าน TEU

อย่างไรก็ตาม หากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยรอบท่าเรือแล้วเสร็จในปี 2564 ท่าเรือแหลมฉบังจะสามารถรองรับการขยายตัวดังกล่าวได้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีโครงการพัฒนาการขนส่งระบบรางในพื้นที่ภาคตะวันออก เช่น โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟสายกรุงเทพฯ-หนองคาย-มาบตาพุด ขนาดราง 1.435 เมตร, มอเตอร์เวย์สายชลบุรี-หนองคาย ช่วงตอนชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง)-ปราจีนบุรี (ทล.359) ระยะทาง 119.2 กม. มูลค่าเบื้องต้น 28,000 ล้านบาท, โครงการถนนของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) สาย รย.3013 สามแยก ทล.331-ทล.3191 จาก อ.ปลวกแดง จ.ระยอง-อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ระยะทาง 17.312 กม. วงเงิน 964.56 ล้านบาท แล้วเสร็จปี 2561 และถนนเชื่อมต่อทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 7 (กม.107+200)-ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง 9.90 กม. วงเงิน 1,996.07 ล้านบาท แล้วเสร็จปี 2561 ซึ่งจะสนับสนุนให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นศูนย์กลางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและศูนย์กลางลอจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น