ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผอ.ทลฉ.คนใหม่ พร้อมสานการพัฒนาโครงการสำคัญตามนโยบายกระทรวงคมนาคม รัฐบาล และการท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่มุ่งเน้นลดจำนวนการขนถ่ายสินค้าทางบก เผยขณะนี้มีความคืบหน้า และเชื่อว่าจะแล้วเสร็จในอีก 2 ปี ส่วนการก่อสร้างท่าเทียบเรือเฟส 3 ต้องเป็นไปตามปริมาณสินค้าขนถ่ายผ่านท่า ซึ่งขณะนี้โครงการท่าเทียบเรือเฟส 1 และ 2 ยังรับมือไหว
วันนี้ (26 ต.ค.) ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบังคนใหม่ ได้ออกมาเปิดเผยถึงแนวทางการบริหารงานในท่าเรือแหลมฉบัง ในปีประมาณ 2559 ว่า ยังคงมุ่งเน้นการดูแลงานตามนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคม รัฐบาล และคณะกรรมการ รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของการท่าเรือแห่งประเทศไทย
โดยเฉพาะการสานต่อโครงการสำคัญที่ดำเนินงานมาตั้งแต่ครั้งผู้อำนวยการคนเก่า คือ ร.อ.สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการประกวดราคาเพื่อหาผู้รับเหมาก่อสร้าง และคาดว่าในอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า จะได้เห็นโครงการอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนั้น ยังมีโครงการก่อสร้างศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ซึ่งในปีงบประมาณที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการเมื่อเดือนกันยายน 2558 และท่าเรือแหลมฉบังจะใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปี ในการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จ
ทั้งนี้ เชื่อว่าหากการก่อสร้างใน 2 โครงการแล้วเสร็จ และเปิดใช้งานจะสามารถแบ่งเบาการใช้ผิวจราจรทางบกได้เป็นอย่างดี และยังสามารถทุ่นการใช้รถในการขนถ่ายสินค้าทางบกได้มากประมาณ 2-3 พันคันต่อวัน ซึ่งโครงการศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางรถไฟจะสามารถขนถ่ายสินค้าทางรางได้มากถึง 1 ล้านทีอียูต่อปี ขณะที่โครงการท่าเทียบเรือชายฝั่งจะขนถ่ายสินค้าได้มากถึง 3 แสนทีอียูต่อปี
“ท่าเรือแหลมฉบัง สามารถสร้างความมั่นใจให้แก่พี่น้องประชาชนได้ว่า เราจะช่วยแบ่งเบาภาระด้านการจราจร และทั้ง 2 โครงการที่จะแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า จะสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านลอจิสติกส์ ทั้งภาคขนส่ง และภาคประชาชนโดยทั่วไป”
“ส่วนนโยบายการเพิ่มจำนวนตู้สินค้าในปี 2559 นั้น พบว่า ขณะนี้จำนวนตู้สินค้าผ่านท่าฯ มีอัตราการเติบโตเป็นลำดับ แต่ก็ยังเป็นการเติบโตที่น้อยในปี 2558 ซึ่งก็เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม เราก็ได้มีการหาพันธมิตรซึ่งท่าเรือแหลมฉบังได้เซ็นสัญญาเป็นท่าเรือพี่น้องอยู่กับหลายท่า และเมื่อเร็วๆ นี้เราก็เพิ่งเซ็นสัญญากับท่าเรือเซินเจิ้น ที่มีตู้สินค้าขนถ่ายผ่านท่ามากเป็นอันดับ 3 ของโลก”
ร.ต.ต.มนตรี ยังกล่าวอีกว่า ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ท่าเรือแหลมฉบังยังจะเข้าพูดคุยแนวทางการเซ็นเอ็มโอยูกับท่าเรือกว่างโจว และยังมีท่าเรือพี่น้องคิตะคิวชู ที่ได้เซ็นสัญญาไปก่อนหน้าแล้ว และผลจากการทำงานดังกล่ว จะทำให้ท่าเรือแหลมฉบังมีเครือข่ายในการดึงตู้สินค้าให้เข้าขนถ่ายยังท่าฯ ได้อีกระดับหนึ่ง และที่ผ่านมา ยังมีการพูดคุยถึงการสร้างเครือข่ายต่างๆ ให้เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือชายฝั่งที่อาจมีเรือสินค้าเดินทางมาจากประเทศจีน ภายใต้ความร่วมมือในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ซึ่งจะทำให้มีการลำเลียงสินค้าในประเทศกลุ่ม เออีซีด้วยกันผ่านเรือฟีดเดอร์เพิ่มมากขึ้น
ส่วนงานดูแลชุมชนโดยรอบท่าเรือฯ นั้น ก็ยังถือเป็นหัวใจสำคัญ ที่ไม่ว่าผู้อำนวยการท่านใดเมื่อเข้ามาบริหารงานแล้วจะต้องดำเนินการในแนวทางเดียวกัน และจากประสบการณ์การทำงานที่ได้ใกล้ชิดกับชุมชนโดยรอบท่าเรือแหลมฉบังมาโดยตลอด ก็ขอยืนยันว่า ภาคประชาชนจะยังได้รับการดูแลไม่น้อยไปกว่าเดิม ซึ่งท่าเรือแหลมฉบัง ยังมีอีกหลายแนวทางในการให้ความช่วยเหลือชุมชนในเรื่องต่างๆ
“ในเรื่องของการก่อสร้างท่าเทียบเรือเฟส 3 เราก็ยังยืนยันว่าจะดำเนินการก่อสร้างเมื่อถึงเวลาที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งโดยหลักการของการสร้างท่าเทียบเรือที่สมประโยชน์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อท่าเทียบเรือเดิมมีการใช้บริการประมาณ 70-80% แต่หากการใช้บริการขนถ่ายสินค้าผ่านท่ายังอยู่ในระดับที่ไม่ถึงเกณฑ์ก็ยังไม่จำเป็นที่จะต้องก่อสร้างท่าเทียบเรือใหม่รอเพื่อให้เกิดความกดดัน อย่างไรก็ตาม การจะสร้างท่าเทียบเรือใหม่ต้องคำนึงถึงระยะเวลาในการก่อสร้างด้วยว่าหากในวันหนึ่งที่ท่าเทียบเรือเดิมมีการใช้พื้นที่ขนถ่ายสินค้าถึง 80% แล้ว ท่าเทียบเรือใหม่ก็ต้องเปิดใช้ได้ทันด้วย”
อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ 2558 ที่ผ่านมา ท่าเรือแหลมฉบัง มีปริมาณการขนถ่ายสินค้าผ่านท่าประมาณ 6.7 ล้านทีอียู โดยมีอัตราการเติบโตของจำนวนตู้สินค้าสูงกว่าปีก่อนที่ 4.97% ถือเป็นการเติบโตในระดับที่น่าพอใจ แต่ยังไม่ใช่การเติบโตที่สูงตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้