ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชาวบ้านเปิดใจรับท่าเรือเฟส 3 พร้อมเสนอเงื่อนไขต้องตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับพื้นที่เพื่อร่วมออกแบบท่าเรือเฟส 3 หวังให้ท่าเรือแหลมฉบัง และชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
วันนี้ (15 มี.ค.) คณะอนุกรรมการพัฒนาชุมชนและสังคมรอบท่าเรือแหลมฉบัง ประชุมหารือประจำเดือน ครั้งที่ 2/2559 โดยมี นายสนธิ คชวัฒน์ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาชุมชน และสังคมรอบท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมด้วยตัวแทนชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ โดยในวันนี้มีวาระสำคัญในการพิจารณาร่วมกันคือ โครงการพัฒนาท่าเรือเฟส 3
นายสนธิ คชวัฒน์ ประธานในที่ประชุมฯ แจ้งให้ทราบว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายที่จะเร่งให้ก่อสร้างเพื่อขยายท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ประกอบกับจำนวนตู้สินค้าเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และท่าเทียบเรือเดิมทีมีอาจจะไม่เพียงพอในการรับรอง
ที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวได้มีการออกแบบ และเริ่มต้นที่จะทำการศึกษาเพื่อจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไปแล้ว แต่เนื่องจากยังติดปัญหา โดยยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชนชนในพื้นที่ จึงยังไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้
ดังนั้น เพื่อให้โครงการเดินหน้าไปต่อได้ และประชาชนรอบท่าเรือสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ในที่ประชุมฯ จึงมีความเห็นร่วมกันให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาในพื้นที่ขึ้น ซึ่งประกอบด้วย ภาคประชาชนในพื้นที่ที่มีความรู้ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม อาจารย์มหาวิทยาลัย และ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง
โดยมีหน้าที่ดังนี้ คือ 1.ร่วมออกแบบและกำหนดรูปแบบของท่าเรือ และมาตรการป้องกัน และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการ
2.ให้ข้อเสนอแนะในการชดเชย และปรับปรุงคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมรอบโครงการ
3.กำกับดูแล และให้ข้อเสนอแนะต่อการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตลอดจนการศึกษาผลกระทบ รวมทั้งการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมทั้งช่วงการก่อสร้าง และเปิดดำเนินโครงการ
ด้าน นายรังสรรค์ สมบูรณ์ ชาวประมงบ้านละมุง เผยว่า จริงๆ แล้วตนเองไม่ได้จะคัดค้านความเจริญของประเทศ รวมถึงการพัฒนาท่าเรือเฟส 3 ที่ผ่านมา ตนมองว่าชาวบ้านไม่ได้รับความยุติธรรมในการเยียวยาหลังการก่อสร้างท่าเรือในเฟสที่ 1 และ 2 แต่ที่ผ่าน ในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา ทางท่าเรือแหลมฉบังได้เข้ามาดูแลชุมชนบ้างก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือเฟส 3 ซึ่งทราบว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะเร่งให้ดำเนินการ หากคัดค้านต่อไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ดังนั้น ระหว่างท่าเรือ และชาวบ้านเราควรที่จะถอยหลังคนละก้าว และเริ่มก้าวใหม่ไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้ประเทศมีการพัฒนา แต่ทั้งนี้ทางท่าเรือแหลมฉบังจะต้องมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ซึ่งการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับพื้นที่เพื่อร่วมออกแบบท่าเรือนั้นถือว่าเป็นเรื่องทีดี แต่หากชาวบ้านยอมแล้ว และในระหว่างการก่อสร้าง หรือระหว่างการดำเนินโครงการหากท่าเรือไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงตนจะยอมติดคุกเพื่อคัดค้านโครงการให้ถึงที่สุด
อนึ่ง แนวทางการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ได้ถูกกำหนดไว้ 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ลงทุนเอง การขุดร่องน้ำใหม่เพิ่มอีก 1 ร่อง และขุดแอ่งจอดเรือสำหรับท่าเรือขั้นที่ 3 ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม บริหารจัดการการขนส่ง และจราจรในพื้นที่ท่าเรือ การสร้างระบบจ่ายไฟฟ้าให้แก่เรือ ระบบบำบัดน้ำเสียในท่าเรือ และระบบจัดการของเสีย
ขณะที่ในส่วนที่ให้เอกชนเข้ามาลงทุน คือ รับสัมปทาน และบริหารท่าเรือ โดยภายหลังการก่อสร้างท่าเรือแล้วเสร็จก็จะเปิดให้เอกชนเข้าประมูลเพื่อรับสัมปทานบริหารท่าเรือ
ทั้งนี้ เอกชนที่ประมูลได้จะต้องดำเนินการก่อสร้างภายในท่าเรือต่อจนครบถ้วน สำหรับการดำเนินงานโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา ทำการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม และออกแบบรายละเอียด คาดจะใช้เวลา 3 ปี ก็จะแล้วเสร็จ โดยมีมูลค่าลงทุนในโครงการประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท