xs
xsm
sm
md
lg

โครงการท่าเทียบเรือที่ 7 และ 8 ของบริษัทไทยออยล์ผ่านฉลุย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - คณะกรรมการภาควิชาการและภาคประชาชนในพื้นที่รอบโรงกลั่น เห็นชอบโครงการท่าเทียบเรือที่ 7 และ 8 ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

เมื่อเร็วๆ นี้ นายสนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการจากชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทยและประธานคณะกรรมการประสานความเข้าใจบ้านอ่าวอุดมและที่ปรึกษาโครงการ (Project Advisor) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานความเข้าใจบ้านอ่าวอุดมและที่ปรึกษาโครงการ (Project Advisor) พร้อมด้วยนักวิชาการ และผู้นำชุมชน เพื่อพิจารณาร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการท่าเทียบเรือที่ 7 และ 8 ของบริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ก่อนที่จะนำเสนอให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานอีไอเอ ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

นายสนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการจากชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทยและประธานคณะกรรมการประสานความเข้าใจบ้านอ่าวอุดมและที่ปรึกษาโครงการ (Project Advisor) เปิดเผยว่า โครงการท่าเทียบเรือที่ 7 และ 8 ของบริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เป็นโครงการก่อสร้างขยายท่าเรือออกไปอีก 1,452 เมตร รับเรือขนส่งน้ำมันประเภทดีเซล เบนซิน แนฟทา น้ำมันเครื่องบิน ขนาด 30,000-50,000 เดทเวทตัน ทำให้สามารถลดปริมาณเรือที่เข้าเทียบท่าเรือที่ 1-6 จากเดิมจำนวน 2,804 ลำต่อปี ลงได้ถึง 354 ลำต่อปี

สำหรับโครงสร้างท่าเรือจะมีลักษณะโปร่ง มีช่องให้เรือประมงพื้นบ้านลอดได้ 24.0 เมตร และความสูงของโครงสร้างจากน้ำทะเลช่วงน้ำขึ้นสูงสุดประมาณ 4.0 เมตร ในระยะก่อสร้างท่าเรือใช้เวลา 24 เดือน โดยช่วงที่มีการตอกเสาเข็มก่อสร้างจะติดตั้งม่านกันตะกอนเพื่อป้องกันสารแขวนลอยแพร่กระจายออกไปนอกพื้นที่ก่อสร้าง และกำหนดให้มีการตรวจวัดตะกอนแขวนลอย 5 ครั้งต่อวัน

คณะกรรมการคณะกรรมการประสานความเข้าใจบ้านอ่าวอุดมและที่ปรึกษาโครงการ (Project Advisor) ได้ขอให้บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทที่ปรึกษาคือ บริษัททีม คอนซัลแตนท์ จำกัด มานำเสนอรายงานผลการศึกษาฯ ให้ภาคประชาชนที่มีความรู้ และอาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ความเห็น

จากการพิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการนี้มีมาตรการป้องกัน และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และเห็นชอบต่อรายงานฉบับนี้ และมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมให้โครงการปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

1.การตอกเสาเข็มอาจทำให้โลหะหนักที่ตกตะกอนในพื้นทะเลฟุ้งกระจายขึ้นมา จึงขอให้ทำการศึกษาเพิ่มเติมว่า จะมีผลกระทบต่อนิเวศ และสัตว์ทะเลหรือไม่อย่างไร รวมทั้งให้มีการติดตามตรวจสอบปริมาณโลหะหนักในช่วงการก่อสร้างเพิ่มเติมด้วย

2.ให้เสนอแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เรื่องการกัดเซาะ และการทับถมของทรายในทะเลในรายงานฯ ด้วย

3.จะต้องเสนอเส้นทางลำเลียงอุปกรณ์ และเครื่องมือ รวมทั้งคนงานสำหรับทางบกให้ชัดเจน โดยไม่ควรผ่านพื้นที่ชุมชนในช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งการจราจรติดขัดอยู่แล้ว และที่พักของคนงานก่อสร้างซึ่งมีอยู่ 90 คน ต้องตั้งอยู่นอกชุมชน

4.บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และภาคประชาชนในพื้นที่เห็นร่วมกันในการให้มีการปล่อยสัตว์ลงในพื้นที่บ้านอ่าวอุดมทุกปี และกำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการท่าเทียบเรือที่ 7 และ 8 ด้วย

5.บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และภาคประชาชนในพื้นที่เห็นร่วมกันให้คณะกรรมการคณะกรรมการประสานความเข้าใจบ้านอ่าวอุดมและที่ปรึกษาโครงการ (Project Advisor) ทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ และให้ข้อคิดเห็นต่อการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในช่วงการก่อสร้างโครงการ โดยให้ใส่ไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการท่าเทียบเรือที่ 7 และ 8 ด้วย

6.บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และภาคประชาชนในพื้นที่เห็นร่วมกันในการที่จะพัฒนาชุมชนบ้านอ่าวอุดม และชุมชนใกล้เคียง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้มีการเลี้ยง และเพาะพันธุ์ปู และสัตว์น้ำอื่นๆ รวมทั้งการปลูกป่าโกงกางในพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ ให้ใส่ไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการท่าเทียบเรือที่ 7 และ 8 ด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น