ผลการเจรจาระหว่าง รมว.เกษตรและสหกรณ์ กับกลุ่มประมงพื้นบ้านในพื้นที่ภาคใต้ เตรียมเปิดทางให้ยกเลิกมาตรา 34 ที่ห้ามกลุ่มประมงพื้นบ้านทำการประมงชายฝั่งไม่เกิน 3 ไมล์ทะเล ในการประชุมนโยบายประมงแห่งชาติสัปดาห์หน้า พร้อมนำเสนอในที่ประชุม ศปมผ. ก่อนชง ครม. พิจารณาแก้ไขโดยเร็ว
วันนี้ (4 ก.พ.) กลุ่มประมงพื้นบ้านในพื้นที่ภาคใต้ ประกอบด้วย จ.ประจวบคีรีขันธ์, จ.สงขลา, จ.สตูล, จ.กระบี่ ประมาณ 20 คน นำโดย นายสะมะแอ เจ๊ะมูดอ (จ.สงขลา), นายปิยะ เทศแย้ม (จ.ประจวบคีรีขันธ์) เดินทางมารวมตัวกัน เพื่อติดตามเรื่องที่ได้เคยยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2559 เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมาตรา 34 แห่ง พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 ที่กำหนดห้ามเรือเล็กทำการประมงพื้นที่ชายฝั่งเกิน 3 ไมล์ทะเล และปัจจุบัน ยังไม่ได้รับคำตอบจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ที่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถ.ราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ ซึ่งกลุ่มต้องการจะพบ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยตรง เพื่อสอบถามความคืบหน้า อยู่ระหว่างรอมวลชนจาก จ.กระบี่ ภูเก็ต และ สตูล
โดยทาง พล.อ.ฉัตรชัย ได้มอบหมายให้ พล.อ.ประสาท สุขเกษตร เลขานุการ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ลงมาพบและให้กลุ่มจัดตัวแทน 5 คน ไปหารือในห้องประชุม ซึ่งผลการหารือระหว่างกลุ่มประมงพื้นบ้าน นำโดย นายสะมะแอ และ นายปิยะ กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำโดย พล.อ.ฉัตรชัย และพล.ร.ต.เชษฐา ใจเปี่ยม เลขานุการคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ศปมผ. โดยมีผลการประชุมทั้งสองฝ่าย เป็นดังนี้
นายสะมะแอ ได้ชี้แจงในที่ประชุม ว่า ต้องการให้ยกเลิกมาตรา 34 ที่ห้ามกลุ่มประมงพื้นบ้านทำการประมงชายฝั่งไม่เกิน 3 ไมล์ทะเล ซึ่งเปรียบเสมือนขังชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่จำกัด ทั้ง ๆ ที่พื้นที่ 3 ไมล์ทะเล ควรจะเป็นพื้นที่ที่ควรต้องดูแลเป็นพิเศษ สงวนให้ปลาวางไข่ แต่กลับให้กลุ่มประมงพื้นบ้านซึ่งมีมากกว่า 80% เข้าทำการประมงในพื้นที่แคบ ซึ่งเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่จำเป็น อีกทั้งยังห้ามทำการประมงนอกพื้นที่จังหวัดของตนเอง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการประกอบอาชีพ และเรียกร้องให้ยืนยันว่าจะนำข้อเรียกร้องการยกเลิกมาตรา 34 เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาโดยเร็ว
และได้ลงนามคำสั่งมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ โดย ศปมผ. ที่มีตัวแทนกลุ่ม คือ นายสะมะแอ และ นางเรวดี ประเสริฐ เจริญสุข ร่วมเป็นคณะกรรมการอยู่ด้วย เร่งจัดการประชุมภายในสัปดาห์หน้าเกี่ยวกับประเด็นมาตรา 34 ของ พ.ร.ก. การประมงฯ พร้อมกับให้กลุ่มฯ รวบรวมปัญหาทั้งหมดที่มีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพนำเสนอในที่ประชุม ศปมผ. เพื่อหาแนวทางแก้ไขและนำมติที่ประชุม ศปมผ. นำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาแก้ไข พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวโดยเร็วแล้ว พร้อมทั้งกำชับให้กรมประมงได้กำชับประมงจังหวัดต่าง ๆ ได้ดำเนินการกวดขันผู้ประกอบการที่กระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องมือการทำประมงที่มีลักษณะทำลายล้างให้เป็นไปตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด โดยให้ผู้ที่พบเห็นหรือทราบเบาะแส แจ้งมาโดยตรงเพื่อดำเนินการจับกุมดำเนินคดีต่อไป