xs
xsm
sm
md
lg

แหลมฉบังขั้นที่ 3 มูลค่าทะลุแสนล้าน ผอ.กทท.ลั่นเดินหน้า พร้อมขันนอตประสิทธิภาพบริการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เรือเอกสุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)
“ผอ.กทท.” ยันเดินหน้าแหลมฉบังขั้นที่ 3 เร่งทบทวนผลศึกษาเดิม คาดเสนอนโยบายตัดสินใจภายใน 2-3 ปี เปิดบริการในปี 64-65 ขณะที่มูลค่าลงทุนขยับเป็นแสนล้าน ส่วนรูปแบบลงทุนเป็นไปได้ทั้ง PPP เอกชน 100% หรือรัฐลงโครงสร้าง 40% เผยงานด่วนปี 59 ขันนอตทุกส่วนยกระดับคุณภาพบริการ

เรือเอก สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยภายหลังลงนามในสัญญาจ้างดำรงตำแหน่ง ผอ.กทท. เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ว่า นโยบายเร่งด่วนคือการปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการขนถ่ายตู้สินค้า ลดระยะเวลาในการออกสินค้า ที่ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง โดยจะลงพื้นที่สำรวจและวิเคราะห์การทำงานในปัจจุบันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับโครงสร้าง วางบุคลากรให้เหมาะสมกับงานมากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่าการให้บริการบางตัวยังต่ำกว่ามาตรฐาน ดังนั้นจะต้องมีการวางแผนเพื่อปรับปรุง ทั้งระบบ บุคลากร และเครื่องมือให้สามารถทำงานเชื่อมโยงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 นั้น จะมีการทบทวนผลการศึกษาเดิมเพื่อให้ข้อมูลมีความทันสมัยมากขึ้น เช่นสถานการณ์ตู้สินค้าของตลาดโลก ประมาณการการเติบโต ค่าเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ และจากการวิเคราะห์การเติบโตของปริมาณตุ้สินค้าเฉลี่ยที่ปีละประมาณ 5% คาดว่าท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 ควรเปิดให้บริการในอีก 6-7 ปีข้างหน้า หรือในปี 2564-2565 โดยจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี ดังนั้น ในช่วง 3 ปีจากนี้ (59-61) จะเป็นช่วงของการเตรียมความพร้อมด้านการเงิน

โดยตามผลศึกษาเดิมเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว มูลค่าการลงทุนแหลมฉบังขั้นที่ 3 อยู่ที่ประมาณ 80,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 30,000 ล้านบาท เอกชนลงทุนอุปกรณ์เครื่องมือในการให้บริการประมาณ 50,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันประเมินว่ามูลค่าลงทุนจะเพิ่มเป็น 100,000 ล้านบาท ส่วนรูปแบบการลงทุนจะมีการศึกษาเปรียบเทียบใน 2 รูปแบบเพื่อให้รัฐบาลตัดสินใจ คือ ตามรูปแบบเดิมรัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสัดส่วน 40% เอกชนลงทุนเครื่องมือให้บริการสัดส่วน 60% หรือจะให้เอกชนลงทุนทั้งหมด 100% รูปแบบ PPP เพื่อลดภาระการลงทุนภาครัฐ

“ที่ผ่านมามีการลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนมาโดยตลอด ซึ่งการท่าเรือฯ แสดงความจริงใจในการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงในการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งคนในพื้นที่เริ่มเข้าใจมากขึ้น ซึ่งในการพัฒนาเฟส 3 คงรอให้เฟส 2 เต็มก่อนแล้วค่อยทำไม่ได้ ส่วนเฟส 2 จะเต็มเร็วหรือช้าขึ้นกับปัจจัยภายนอกเป็นหลัก คือ สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน หรือกรณีเกิดสงคราม เพราะล้วนกระทบต่อปริมาณตู้สินค้าทั้งสิ้น

สำหรับปี 2559 มีโครงการลงทุนที่สำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการคือ โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) งบลงทุนรวม 1,864.19 ล้านบาท สามารถรองรับตู้สินค้าได้ 300,000 TEU/ปี ขณะนี้ลงนามสัญญากับผู้รับจ้างแล้ว กำหนดเปิดบริการปี 2561 และโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator : SRTO) งบลงทุนรวม 2,944.93 ล้านบาท อยู่ระหว่างประกาศร่างทีโออาร์ คาดสรุปประมูลในเดือน ม.ค. 2559 และเปิดให้บริการปี 2561 ซึ่งทั้ง 2 โครงการใช้รายได้ของ กทท.ลงทุนเอง ดังนั้นในการบริหารงานการลงทุนต่างๆ ในช่วงปี 2559-2560 จะต้องระมัดระวังเพื่อไม่ให้กระทบต่อกระแสเงินสด

“ปี 59-60 การท่าเรือมีแผนการลงทุนค่อนข้างมากอยู่แล้วใน 2 โครงการ และบางส่วนเป็นการลงทุนจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือหรือเครน ซึ่งผมจะลงไปดูสภาพการทำงานจริงก่อนที่จะตัดสินใจจัดซื้อ ว่าปัจจุบันเครื่องมือที่มีนั้นมีการใช้งานเต็มประสิทธิภาพแล้วหรือยัง เช่น ตอนนี้เครนยกตู้สินค้าได้ 25 ตู้/ชม. ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ ต้องดูว่าเพราะอะไร เช่น ลานหองตู้ ส่งตู้มาให้ได้เท่านี้ ภายใน 1 ชม. ดังนั้นมีเครนเพิ่มก็ไม่มีประโยชน์ เป็นต้น” เรือเอก สุทธินันท์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น