xs
xsm
sm
md
lg

“อาคม” ยันเจรจารถไฟไทย-จีน เพิ่มสัดส่วนจีนในบริษัทร่วมทุนเป็น 70%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อาคม” โต้ข่าวล้มเจรจารถไฟไทย-จีน ยันกำหนดประชุมร่วมครั้งที่ 10 เดือน ก.พ.นี้แน่นอน เร่งที่ปรึกษาสรุปต้นทุนโครงการใน 1 เดือน ด้าน “รมว.คลัง” นำทีมเจรจาตั้งบริษัทร่วมทุน (SPV) ปรับสัดส่วนจีนเป็น 70 ส่วนไทย 30 เพื่อให้จีนร่วมรับความเสี่ยงเพิ่ม และร่วมทุนครอบคลุมทั้งก่อสร้างและเดินรถ ส่วนที่ดินเป็นของไทย โดยบริษัทร่วมทุนต้องจ่ายค่าเช่าสิทธิ์ในการใช้พื้นที่รถไฟฯ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ในการพัฒนารถไฟขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทาง 845.27 กิโลเมตร และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทาง 118.14 กิโลเมตร หลังมีกระแสข่าวว่าอาจจะยกเลิกการเจรจากับจีนเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยแพง และค่าก่อสร้างสูงถึงกว่า 5 แสนล้านบาท โดยจะเปลี่ยนไปเจรจากับทางญี่ปุ่นแทน โดยนายอาคมกล่าวว่าไม่ทราบข่าวนี้ และคงต้องไปถามทางผู้ให้ข่าวเอง ตอนนี้ในส่วนที่กระทรวงคมนาคมรับผิดชอบยังคงเดินหน้าต่อไป ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีน ครั้งที่ 10 ที่ปักกิ่ง ที่ประเทศจีนในเดือน ก.พ. 2559 ช่วงหลังตรุษจีน โดยล่าสุดนายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐ สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ยืนยันกับทาง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ 2% ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดีในการเจรจา

ทั้งนี้ รองนายกฯ ได้มอบหมายให้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง มาช่วยเจรจาใน 2 เรื่องหลัก คือ รูปแบบการลงทุน โดยต้องการให้ทางจีนมีสัดส่วนการลงทุนที่มากขึ้น จากขณะนี้ที่กำหนดสัดส่วนไทย 40-จีน 60 อาจจะปรับเป็น 30-70 เป็นต้น และสัดส่วนในการลงทุนจะต้องครอบคลุมไปถึงการก่อสร้างด้วย จากเดิมจะครอบคลุมเรื่องการเดินรถ ส่วนเรื่องแหล่งเงินนั้น หลังจากเจรจาเรื่องสัดส่วนการลงทุนได้แล้วหากไทยใช้เงินไม่มากนักอาจจะหาแหล่งเงินเองหรืออาจจะยังคงกู้จากจีนก็ได้ ดังนั้นเรื่องอัตราดอกเบี้ยจึงไม่ใช่ประเด็นในขณะนี้ ต้องรอการเจรจาเรื่องสัดส่วนการลงทุนได้ข้อสรุปก่อน

นายอาคมกล่าวว่า รูปแบบจะเป็นการตั้งบริษัทร่วมทุน (Special Purpose Vehicle-SPV หรือนิติบุคคลเฉพาะกิจ) โดยหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเรื่องสัดส่วนการร่วมทุนนั้น นอกจากมูลค่าต้นทุนโครงการแล้ว จะมีเรื่องการใช้เทคโนโลยีของจีน และปริมาณการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารจะมาจากทางจีนมากกว่าจากไทย สำหรับต้นทุนโครงการนั้นขณะนี้บริษัทที่ปรึกษากำลังตรวจสอบรายละเอียด และข้อเสนอของฝ่ายจีนที่ทำรายงานมาประเมินร่วมกับผลการศึกษาของไทย โดยจะให้เวลาทำงาน 1 เดือนเพื่อให้สรุปได้ก่อนจะประชุมครั้งที่ 10 และยังคงเป้าหมายเริ่มตอกเสาเข็มในเดือน พ.ค. 2559 อยู่

“การปรับเพิ่มสัดส่วนของจีนนั้น เพื่อให้จีนเข้ามารับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ส่วนบริษัทร่วมทุนจะเป็นเจ้าของร่วมกันระหว่างไทย-จีน ในเรื่องกรรมสิทธิ์ต่างๆ นั้นจะต้องเจรจาในรายละเอียดการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ประเด็นการใช้ประโยชน์จากเขตทางรถไฟ สิทธิในการใช้ที่ดินโดยการรถไฟฯ ยังคงเป็นเจ้าของที่ดิน ราง ดังนั้น บริษัทร่วมทุนที่จะเข้ามาพัฒนาก่อสร้างและเดินรถจะต้องจ่ายค่าใช้พื้นที่ ค่าสิทธิในการใช้ทางต่างๆ ยืนยันไทยไม่เสียสิทธิใดๆ บนที่ดินรถไฟฯ”

ส่วนการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการ (EIA) นั้น เนื่องจากมีการโยกสถานีบ้านภาชี จากโครงการรถไฟไทย-ญี่ปุ่น (กรุงเทพฯ-เชียงใหม่) มาอยู่ในโครงการรถไฟไทย-จีน (กรุงเทพฯ-หนองคาย) เพราะเส้นทางนี้จะเริ่มได้ก่อน ทำให้ต้องรายงานการศึกษาเพิ่มเติมต่อ สผ. จากที่ก่อนหน้านี้ได้ยื่นรายงานผลการศึกษาไปแล้ว

สำหรับความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่นนั้น นายอาคมกล่าวว่า ในวันที่ 27 ม.ค. 2559 จะมีพิธีเริ่มการทดลองเดินรถสินค้า ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 12 ฟุต จากสถานีหนองปลาดุก-บางซื่อ ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกตอนใต้ (Lower East-West Corridor) เส้นทางกาญจนบุรี (บ้านพุน้ำร้อน)-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง และกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ ระยะทาง 574 กม. โดยมีการปรับปรุงเส้นทางที่มีอยู่แล้วให้มีความแข็งแรงจึงพร้อมในการเดินรถ โดยความร่วมมือช่วงแรกจะเป็นการปรับปรุงทางปัจจุบันใช้ประโยชน์ในการขนส่งสินค้าก่อน ซึ่งภาคเอกชนระดับ SME สนใจใช้บริการตู้ขนาด 12 ฟุต เพราะประหยัดกว่าตู้ขนาด 20 ฟุต โดยจะมีการทดลองในเส้นทางอื่นๆ ต่อไป ในขั้นต่อไปจะเป็นการปรับปรุงเพื่อขนส่งผู้โดยสารทางไกลและใกล้ ซึ่งจะต้องมีการตั้งบริษัทร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่น และระยะต่อไปเป็นการก่อสร้างพัฒนาเป็นรถไฟทางคู่ และระบบไฟฟ้า
กำลังโหลดความคิดเห็น