xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นมาแล้ว! คิกออฟทดลองเดินรถไฟขนตู้สินค้า 12 ฟุต ช่วยลดต้นทุน SME

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รถไฟไทย-ญี่ปุ่นเริ่มแล้ว เปิดทดลองขนส่งคอนเทนเนอร์ขนาดเล็ก 12 ฟุต จากหนองปลาดุก-บางซื่อ และอีก 2 เส้นทาง คือ บางซื่อ-ลำพูน และบางซื่อ-ขอนแก่น เพื่อวิเคราะห๋ก่อนเดินหน้าตั้งบริษัทร่วมทุนเดินรถและลงทุนสร้างทางคู่ ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกตอนใต้ กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง และกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ “อาคม” เผยมินิคอนเทนเนอร์จะช่วยลดต้นทุน SME ไทยและเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางราง

วันนี้ (5 ก.พ.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายซึโตะมุ ชิมุระ รองอธิบดีกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ได้เป็นประธานร่วมปล่อยขบวนรถสินค้าเพื่อแสดงสัญลักษณ์ในพิธีเปิดการทดลองขนส่งคอนเทนเนอร์ขนาดเล็กภายใต้ความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ที่สถานีรถไฟชุมทางหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และเป็นการพัฒนาระบบรางแนวเศรษฐกิจด้านใต้ ให้ชุมทางหนองปลาดุกเป็นจุดเชื่อมต่อท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือทวายของพม่า

รมว.คมนาคม กล่าวว่า การทดลองขนส่งคอนเทนเนอร์ขนาด 12 ฟุตครั้งแรกในประเทศไทยช่วยให้การขนส่งและขนถ่ายสินค้ามีความคล่องตัว เนื่องจากตู้มีขนาดเล็ก การเชื่อมต่อกับรถบรรทุกสามารถเข้าถึงผู้รับสินค้าได้สะดวก แม้ในพื้นที่คับแคบ ประหยัดพื้นที่จัดเก็บ และลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง โดยได้มีการทดลองยกตู้สินค้าขนาด12 ฟุต จากสถานีหนองปลาดุก-บางซื่อครั้งนี้ อยู่ในเส้นทางกาญจนบุรี-บางซื่อ เพื่อให้เห็นความสะดวกและคล่องตัว และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะทดลองขนส่งสินค้าทางรางด้วยตู้สินค้า (คอนเทนเนอร์) ขนาด 12 ฟุต ใน 2 เส้นทาง ที่เปิดใช้บริการได้จริง และมีศูนย์กระจายสินค้า คือ เส้นทางที่ 1 เส้นทางบางซื่อ-ลำพูน-บางซื่อ ระยะทาง 722 กม. โดยกำหนดให้สถานีลำพูนเป็นพื้นที่กระจายสินค้าในภาคเหนือ เปิดให้ทดลองใช้บริการระหว่างวันที่ 8-12 กุมภาพันธ์ 2559

เส้นทางที่ 2 เส้นทาง บางซื่อ-กุดจิก (จ.นครราชสีมา)-ท่าพระ (จ.ขอนแก่น)-กุดจิก (จ.นครราชสีมา)-บางซื่อ ระยะทาง 433 กม. โดยมีสถานีกุดจิก และสถานีท่าพระ เป็นพื้นที่กระจายสินค้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามโครงการศึกษาความเป็นไปได้สำหรับการขนส่งตู้สินค้า (คอนเทนเนอร์) ขนาด 12 ฟุต โดยจะสามารถสรุปผลการศึกษาได้ประมาณกลางปี 2559

“ปัจจุบันการขนส่งสินค้าของไทยจำเป็นต้องลดต้นทุนและลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาจราจร ดังนั้นเป้าหมายของรัฐบาล คือ หาทางส่งเสริมและจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมาใช้รถไฟในการขนส่งสินค้าแทนรถบรรทุก โดยในการทดลองนี้ทางญี่ปุ่นจะมีการวิจัยถึงระยะเวลาในการโหลดสินค้า การขนส่ง การปรับปรุงตารางเวลาเดินรถให้เหมาะสม ให้สินค้ามีความปลอดภัยและใช้เวลาน้อยที่สุด ซึ่งขณะนี้ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างการปรับปรุงเพื่อเสริมความแข็งแรงของทางรถไฟ และบางช่วงจะก่อสร้างเป็นทางคู่”

นายอาคมกล่าวว่า ส่วนการเดินรถขนส่งสินค้าตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกตอนใต้ (Lower East - West Corridor) เส้นทางกาญจนบุรี (บ้านพุน้ำร้อน)-กรุงเทพฯ-แหลมฉบังและกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ ระยะทาง 574 กม.นั้นจะเกิดขึ้นหลังจากมีการทดลองและสรุปการศึกษาก่อนนอกจากนี้ จะต้องมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อบริหารจัดการเดินรถ ทำการตลาด และลงทุนในการขยายเป็นระบบทางคู่รวมถึงการเดินรถโดยสาร คาดว่าจะสรุปในปีนี้ ซึ่งมีบริษัทญี่ปุ่นสนใจเข้าร่วมทุนด้วย

ทั้งนี้ การใช้ตู้ขนาด 12 ฟุตในประเทศไทย จะมีข้อดี 5 ข้อ คือ 1. มีความคล่องตัวในการขนส่งเข้าเมือง ชุมชน เข้าถึงโรงงานแหล่งกระจายสินค้าได้สะดวก 2. ช่วยลดต้นทุน ผู้ประกอบการรายย่อย (SME) ที่สามารถใช้บริการตู้ขนาดเล็กลงจากเดิมที่มีตู้ขนาด 20 และ 40 ฟุต ซึ่งอาจจะเสียเวลารอและมีค่าใข้จ่ายสูงกว่า 3. สามารถเชื่อมโยงในการขนส่งสินค้า ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว มาเลเซีย กัมพูชา พม่า ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่าไทยได้สะดวกขึ้น 4. ใช้รางขนาด 1 เมตรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยบริหารจัดการตารางการเดินรถให้ตรงต่อเวลา เกิดประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจกับผู้ใช้บริการ 5. เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากญี่ปุ่น

นายซึโตะมุ ชิมุระ รองอธิบดี กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นมีรถไฟขนส่งสินค้าความเร็ว 70 กม./ชม. ถึง 500 ขบวนต่อวัน และวิ่งได้ตามกำหนดเวลากว่า 90% ซึ่งญี่ปุ่นจะได้นำประสบการณ์ในการบริหารจัดการการขนส่งสินค้าทางรถไฟ รวมไปถึงการใช้คอนเทนเนอร์ เพื่อช่วยประเทศไทยในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม การลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และการใช้ประโยชน์จากการขนส่งทางราง บริเวณรอบๆ เส้นทางเศรษฐกิจด้านใต้ของประเทศไทยนั้นก็มีโรงงาน และบริษัทญี่ปุ่นอยู่มาก การพัฒนาในครั้งนี้จะส่งผลไปถึงการเติบโตของเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนโดยรวมด้วย

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะทางรางอย่างจริงจัง เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาทต่อปี ลดระยะเวลาในการเดินทางทางรถไฟ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางจากร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 5 จึงเร่งผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบรางไทย-ญี่ปุ่นขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการขนส่งทางรถไฟของไทยและพัฒนาการให้บริการขนส่งทางราง โดยการพัฒนาเส้นทางรถไฟปัจจุบันเป็นระบบทางคู่หรือระบบไฟฟ้า



กำลังโหลดความคิดเห็น