คมนาคม-ร.ฟ.ท.เร่งปรับปรุง TOR รถไฟทางคู่เพื่อเปิดกว้างผู้รับเหมาเข้าประมูลได้มากรายหลังเงื่อนไขเดิมมีปัญหา “ออมสิน” เผยเดิมมีผู้รับเหมา 6-7 รายเข้าประมูลได้แต่ปรับใหม่จะเพิ่มเป็น 16-17 ราย ยอมรับหวั่นลดสเปกมากไปจะกระทบต่อการทำงานที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะแรก 67 เส้นทางว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ลงนามสัญญาก่อสร้างไปแล้ว 1 เส้นทาง คือ ทางคู่ช่วงคลองสิบเก้า-แก่งคอยระยะทาง 106 กม. วงเงินประมาณ 10,232 ล้านบาท และช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กม. วงเงินประมาณ 23,802 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 5 เส้นทางอยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติ โดยทางคู่ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 17,249.90 ล้านบาทนั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2559 แต่ยังไม่สามารถเปิดประกวดราคาได้เนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับปรุงร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ให้เปิดกว้างมากขึ้น ซึ่งนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ชี้แจงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีให้รับทราบรายละเอียดแล้ว
ทั้งนี้ การประมูลที่ผ่านมาเสียงสะท้อนว่าเงื่อนไขแคบไปหรือไม่ มีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยรายหรือไม่ ซึ่งตามเงื่อนไขเดิมจะมีผู้รับเหมาที่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ประมาณ 6-7 ราย ขณะที่เงื่อนไขที่ปรับปรุงใหม่ประเมินว่าจะมีผู้รับเหมาเข้าร่วมประมูลได้เพิ่มขึ้นเป็น 16-17 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่น่าพอใจแล้ว
ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการหารือกับผู้เกี่ยวข้องและรับฟังนโยบายว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ เนื่องจากยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาด้วย เช่น เมื่อลดทุนจดทะเบียนลงแล้วเปิดทางให้มีจำนวนบริษัทผู้รับเหมาเข้ามาประมูลได้มากรายขึ้นแล้ว เมื่อประมูลได้รับงานไปแล้วบริษัทนั้นๆ ต้องสามารถทำงานได้ตามแผนและเป้าหมาย หรือกรณีเป็นบริษัทต่างชาติจะต้องเข้ามายื่นประมูลเอง ไม่ใช่เป็นนอมินีเข้ามา
รายงานข่าวแจ้งว่า ทางคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ หรือ คตร. ได้ท้วงติงปัญหาดังกล่าวเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้ นายวุฒิชาติ ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. เคยระบุว่า ทีโออาร์ได้ปรับปรุงเพื่อเปิดกว้างให้สามารถมีผู้ยื่นประมูลได้มากรายขึ้น เช่น ลดผลงานจากเดิม 25% เหลือ 15% ของมูลค่างาน, ลดทุนจดทะเบียนจาก 500 ล้านบาท เหลือ 300 ล้านบาท เป็นต้น ขณะที่ต้องเข้าใจว่าการก่อสร้างทางรถไฟเป็นงานเฉพาะ
สำหรับ 5 เส้นทาง ประกอบด้วย 1. ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 17,249.90 ล้านบาท 2. ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. วงเงิน 26,000.4 ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นชอบแล้วอยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และ ครม., ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. วงเงิน 20,036.53 ล้านบาท, ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. วงเงิน 24,840.54 ล้านบาท และช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กม. วงเงิน 10,301.95 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณา EIA และบอร์ด สศช.