xs
xsm
sm
md
lg

เล็งใช้วิธีพิเศษคัดผู้รับเหมา เร่งงานก่อสร้างรถไฟไทย-จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” เล็งใช้วิธีพิเศษเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟทางคู่ ไทย-จีน “ประจิน” เผยต้องเร่งงานก่อสร้าง และอาจจะต้องแบ่งซอยงานก่อสร้างช่วงละ 30-40 กม. สั่ง ร.ฟ.ท.ทำทีโออาร์เพื่อเร่งสรุปเสนอ ครม.อนุมัติ ยอมรับหนักใจการเวนคืนและ EIA ส่อทำวางศิลาฤกษ์ไม่ทัน 23 ต.ค.นี้

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย, แก่งคอย-มาบตาพุด, แก่งคอย-โคราช, โคราช-หนองคาย ระยะทาง 873 กม. ว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ร่างทีโออาร์ในการก่อสร้างงานโยธา (Civil Work) เพื่อแบ่งช่วงการก่อสร้างในแต่ละตอนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับระยะเวลา ซึ่งจะแบ่งในตอนที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กม. และตอนที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กม.ก่อน พร้อมกันนี้ จะพิจารณาว่าจะสามารถใช้วิธีพิเศษในการคัดเลือกผู้รับเหมาได้หรือไม่ เนื่องจากขณะนี่ผู้รับเหมารายใหญ่ที่จะสามารถก่อสร้างทางรถไฟระยะทางยาวๆ ได้มีประมาณ 8-9 บริษัทเท่านั้น ขณะที่รายเล็กลงไปมีอีกหลายสิบบริษัท ดังนั้นจะต้องดูเนื้องานก่อนว่าเป็นอย่างไรเพื่อเลือกวิธีที่เหมาะสม หากเลือกวิธีพิเศษจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป โดยวิธีพิเศษจะเป็นการเชิญผู้รับเหมาที่มีขีดความสามารถที่ 2-3 รายมาเสนอราคาแข่งขัน ซึ่งจะรวดเร็ว แต่จะต้องอยู่ภายใต้กฎกติกา ขั้นตอนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องหาวิธีที่เหมาะสมและทำให้การก่อสร้างรวดเร็วที่สุด

“อาจแบ่งก่อสร้างช่วงละ 30-40 กม. หรือตอนที่ 1 จะแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 5 ช่วง เป็นต้น ดังนั้น วิธีพิเศษคือแต่ละช่วงจะเรียกผู้รับเหมา 2-3 รายมายื่นราคาแข่งกัน ตอนนี้ต้องรอให้ ร.ฟ.ท.แบ่งช่วงการก่อสร้างออกมาก่อน ซึ่งหลักจะแบ่งตามระยะทาง ซึ่งการแบ่งซอยช่วงก่อสร้างจะมากหรือน้อยมีทั้งข้อดี ข้อเสีย เช่น แบ่งซอยมากจะมีบริษัทหลายรายเข้ามาก่อสร้างได้พร้อมๆ กัน แต่ในการกำกับการก่อสร้างจะต้องมีจำนวนบุคลากรที่มากพอ และอาจจะมีปัญหาในการเปรียบเทียบคุณภาพงานช่วงรอยต่อที่เป็นเส้นทางเดียวกัน ดังนั้นต้องพิจารณาให้รอบด้านก่อนตัดสินใจ” รมว.คมนาคมกล่าว

สำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 10-12 ก.ย. ที่กรุงเทพฯ นั้น จะมีความชัดเจนเรื่องการร่วมทุนรวมไปถึงมูลค่าโครงการ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เหมาะสม แนวคิดในความร่วมมือต่างๆ ส่วนการเซ็นสัญญากรอบการทำงานร่วมกัน (Framework Agreement) หรือจะเป็นการลงนามสัญญาเพื่อลงมือก่อสร้าง ได้มอบหมายให้ ร.ฟ.ท.และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำข้อมูลใน Framework Agreement หากเนื้อหาไม่ต่างจากสัญญาจะเลือกลงนามสัญญาไปเลยเพื่อความรวดเร็ว โดยจะนำรายละเอียดสัญญาการร่วมมือแบบจีทูจี และเสนอเข้ากระบวนการพิจารณา เช่น กฤษฎีกา และ ครม.

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ากรอบการทำงานในการออกแบบ การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อขออนุมัติจาก สผ. การออกกฎหมายเวนคืนที่ดินที่มีขั้นตอนพิจารณามาก จะเป็นปัญหาอุปสรรคที่อาจทำให้เป้าหมายที่กำหนดวางศิลาฤกษ์ หรือเริ่มต้นโครงการในวันที่ 23 ต.ค. (วันปิยมหาราช) ซึ่งเป็นพระบิดารถไฟไทย อาจไม่ทัน และจะต้องขยับไปเป็นวันที่ 1-10 ธ.ค. 2558 (จะเป็นวันแห่งการก้าวสู่เทคโนโลยีใหม่ในรัชกาลที่ 9) แทน

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟไทย-จีนนั้นมีมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท โดยมีค่าก่อสร้างงานโยธา 2 ใน 5 หรือประมาณ 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งไทยจะจัดหาแหล่งเงินเอง โดยมีการหารือกับสถาบันการเงินในประเทศบ้างแล้ว ที่เหลืออีก 3 ใน 5 หรือประมาณ 2.4 แสนล้านบาทเป็นงานระบบรถ อาณัติสัญญาณ การซ่อมบำรุง ซึ่งจะเป็นการร่วมทุนระหว่างไทย-จีน ซึ่งจะตั้ง SPV ขึ้นมา โดยกำลังพิจารณาอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากจีนและสัดส่วนการร่วมทุนที่เหมาะสม
กำลังโหลดความคิดเห็น