ยันสำรวจออกแบบรถไฟไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-แก่งคอย และแก่งคอย-โคราช เสร็จ18 ส.ค.นี้ เร่งสรุปวงเงินลุยก่อสร้าง เผยจีนรับหลักการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) บริหารและเดินรถ
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการหารือความร่วมมือไทย-จีน ในการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาด รางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย, แก่งคอย-มาบตาพุด, แก่งคอย-โคราช, โคราช-หนองคาย ระยะทาง 873 กม. ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 6-8 ส.ค. ที่เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน พบว่าการสำรวจออกแบบเส้นทางช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กม. และช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กม. จะแล้วเสร็จในวันที่ 18 ส.ค.นี้ โดยขณะนี้ มีความคืบหน้าประมาณ 80% แล้ว และจะสามารถประเมินมูลค่างานก่อสร้างในช่วงที่ 1 และ 3 ได้ ภายในปลายเดือน ส.ค.นี้ ส่วนช่วงที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กม. และช่วงที่4.นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กม. การสำรวจและออกแบบจะแล้วเสร็จภายในเดือนธ.ค. 2558
ส่วนกรอบการทำงานร่วมกัน (Framework Agreement) ยังไม่สามารถตกลงได้ โดยมีเงื่อนไขบางประการที่ต้องหารือเพิ่มเติม ซึ่งจะหารือกันอีกครั้ง ในการประชุมครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 10-12 ก.ย. 2558 ที่กรุงเทพมหานคร และหากตกลงในรายละเอียดแล้วจะนำส่งร่าง Framework Agreement ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยคาดว่าจะสามารถลงนามร่วมกับจีนได้ภายในเดือน ก.ย.นี้
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เรื่องรูปแบบการลงทุนรถไฟไทย-จีนนั้น ฝ่ายไทยได้เสนอให้จีนร่วมทุน โดยจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle : SPV) เพื่อบริหารจัดการงานระบบ จัดหารถไฟฟ้า และเดินรถ โดยรัฐบาลจีนถือหุ้นผ่านบริษัทเอกชนจีน ส่วนฝ่ายไทยจะลงทุนโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กองทุน และเอกชน ซึ่งเบื้องต้นจีนยอมรับในหลักการแล้ว ส่วนรายละเอียดการกู้เงินนั้นยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากต้องรอการประเมินมูลค่าโครงการปลายเดือน ส.ค.นี้ก่อน โดยจีนยังยืนยันอัตราดอกเบี้ยแบบพิเศษเหมือนเดิม