ส่งออกเดือน พ.ค.กลับมาติดลบอีก 4.4% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เหตุการค้าโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง แถมไอเอ็มเอฟยังปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกลดลงอีกเหลือ 2.4% แต่เชื่อครึ่งปีหลังมีแววฟื้นตัว
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มีมูลค่า 17,617 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 นับจากเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาที่ติดลบ 8% การนำเข้าเดือน พ.ค.มีมูลค่า 16,079 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.50% โดยเกินดุลการค้าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 มูลค่า 1,538 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนยอดรวมการส่งออก 5 เดือนของปี 2559 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 86,991 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.90% และการนำเข้ารวมมีมูลค่า 76,543 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 10.25% โดยเกินดุลการค้า 10,448 ล้านเหรียญสหรัฐ
สาเหตุที่ทำให้การส่งออกเดือน พ.ค.ติดลบ เป็นผลจากการค้าโลกยังชะลอตัว และมีความไม่แน่นอนสูง กระทบกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า โดยล่าสุดทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกลดลงอีก 0.5% หรือทั้งปี 2559 ขยายตัว 2.4% ขณะที่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเฉลี่ยเดือน พ.ค.อยู่ที่ 43.96 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 30.96% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับกว่า 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
“กระทรวงฯ ยังคงยืนยันเป้าหมายการส่งออกทั้งปีที่ 5% เพราะเป็นเป้าในการทำงาน จะปรับบ่อยๆ ไม่ได้ โดยเชื่อว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก”
ทั้งนี้ หากการส่งออกจะขยายตัวที่ระดับ 5% จะต้องผลักดันให้มูลค่าการส่งออกในช่วงที่เหลือปีนี้ต้องทำได้มูลค่า 1.9-2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือนขึ้นไป หากขยายตัว 2.5% การส่งออกจะต้องทำได้มูลค่า 1.8-1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากส่งออกได้แค่ 1.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน การส่งออกไทยก็จะติดลบ
สำหรับรายละเอียดการส่งออกสินค้าในเดือน พ.ค. 2559 พบว่า สินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร ลดลง 7.4% สินค้าที่ส่งออกลดลง เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาล ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ลดลง 2.8% เช่น เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก เว้นยานยนต์ และอัญมณี ส่งออกเพิ่มขึ้น
ในแง่ตลาดส่งออก พบว่า ตลาดหลักส่งออกลด 2.3% ได้แก่ ญี่ปุ่น ลด 8.6% สหภาพยุโรป ลด 2.7% เว้นสหรัฐฯ เพิ่ม 3.4% ตลาดศักยภาพสูง ลดลง 9.1% เช่น อาเซียน ลด 8.8% แบ่งเป็นอาเซียนเดิม ลด 14.7% ซีแอลเอ็มวี กลับมาบวก 1.0% จีน ลด 12.7% ตลาดศักยภาพรอง เพิ่ม 0.4% เช่น ทวีปออสเตรเลียบวก 7% ตะวันออกกลาง บวก 4.2% เป็นต้น
ทางด้านสินค้านำเข้าเดือน พ.ค. 2559 พบว่า กลุ่มเชื้อเพลิงนำเข้าลดลง 6.44% สินค้าทุน ลด 4.93% วัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป นำเข้าเพิ่ม 2.37% เป็นต้น