xs
xsm
sm
md
lg

“คลัง” หั่นคาดการณ์จีดีพีเหลือ 3.3% พร้อมปรับลดประมาณการ ศก.โลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สศค.ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือ 3.3% จากเดิมซึ่งคาดเอาไว้ที่ 3.7% ด้านส่งออกน่าจะยังหดตัว หรือติดลบประมาณ 0.7% ขณะที่การลงทุนภาครัฐยังเป็นปัจจัยหลักหนุน ศก.ไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนก็มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ ยังปรับลดประมาณการ ศก.โลกลงเหลือโต 3.49% จากเดิมที่คาดไว้ 3.56% สอดคล้องต่อไอเอ็มเอฟ

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 59 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ 3.3% จากช่วงคาดการณ์ที่ 3.0-3.6% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวได้ราว 3.7% เนื่องจากคาดว่าการส่งออกที่ยังได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน ทำให้มีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงจากที่คาดการณ์ครั้งก่อน หรือหดตัวราว 0.7%

นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 59 ยังมีการเติบโตได้ดีที่ระดับ 3.3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ที่เติบโต 2.8% แม้จะมีการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจลดลงเล็กน้อย โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการส่งออกบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง โครงการบริหารจัดการน้ำ และพัฒนาระบบขนส่งทางถนน และกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปี 59 ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปตามแนวโน้มการจ้างงาน และรายได้นอกภาคเกษตรยังอยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งแนวโน้มราคาน้ำมันที่ลดลง และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ จะช่วยให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการลงทุนภาคเอกชน นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ เช่น โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวประชารัฐ ยังมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังคงแข็งแกร่ง โดยในส่วนของเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 59 จะอยู่ที่ 0.3% (โดยมีช่วงประมาณการที่ 0.0-0.6%) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับต่ำตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังคงมีทิศทางลดลง

ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่า ดุลการค้าจะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากมูลค่านำเข้าสินค้าคาดว่าจะหดตัวตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่งผลให้คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลประมาณ 38.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 9.7% ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 9.4-10.0% ของ GDP)

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การส่งออกสินค้าของไทยในปีนี้จะยังคงมีข้อจำกัดจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการส่งออก ที่คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงจากที่คาดการณ์ครั้งก่อน

ส่วนผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในปีนี้ ได้รวมไว้ในประมาณการครั้งนี้แล้ว โดยยืนยันว่า ปัญหาไม่ได้รุนแรงตามที่หลายฝ่ายออกมาคาดการณ์ในช่วงก่อนหน้านี้ โดย สศค.ประเมินว่า ภัยแล้งจะสร้างความเสียหายต่อ supply side ประมาณ 0.1-0.5% ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือน ขณะนี้อยู่ที่ระดับ 81.5% ต่อ GDP ถือว่าไม่ใช่ปัจจัยที่น่ากังวล เนื่องจากสัดส่วนหนี้เสียยังอยู่ในระดับต่ำ จากการขยายตัวของสินเชื่อเริ่มชะลอตัวลง รวมทั้งการชะลอของกำลังซื้อของภาคครัวเรือนด้วย

น.ส.กุลยา กล่าวอีกว่า สศค.ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกลงเหลือโต 3.49% จากเดิมคาด 3.56% ซึ่งสอดคล้องต่อประมาณการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศหลักโดยเฉพาะสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง หลังเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ที่ออกมาไม่ดีเหมือนที่คาดการณ์

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่เลื่อนไปเดือน ธ.ค. แทนจากเดิมที่คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยใน มิ.ย. ซึ่งเป็นปัจจัยเข้ามากดดันการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะที่แนวโน้มราคาน้ำมันในปีนี้ยังคาดว่าจะอยู่ในระดับ 35 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยมองว่าราคาน้ำมันยังไม่มีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

“ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอ โครงสร้างการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยน” น.ส.กุลยา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น