ผู้อำนวยการหลักสูตร MPPM มองกลุ่มสหภาพยุโรปสั่นคลอน เมื่อ UK เตรียมตัดสินใจออกจากการเป็นสมาชิก EU ด้วยความไม่มั่นใจภาวะภาวะเศรษฐกิจของกลุ่ม EU ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจของโลกระส่ำระส่าย นับเป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ควรจับตามอง มีผลให้ กนง. พิจารณาคงดอกเบี้ยต่อไป
นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโทการจัดการภาครัฐและเอกชน (MPPM) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดเงินตลาดทุนกำลังจับตาประเทศอังกฤษที่เปิดให้ประชาชนลงประชามติออกจากการประเทศสมาชิก (Brexit) เนื่องจากอังกฤษมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลก คิดเป็นประมาณ 2.4% ของขนาดเศรษฐกิจโลก มีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นอันดับ 11 และมีมูลค่าการนำเข้าสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก ซึ่งหากอังกฤษตัดสินใจออกจาก EU จะทำให้ภาคการค้าของประเทศได้รับผลกระทบอาจสูญเสียประเทศคู่ค้า และต้องเผชิญกับการกีดกันทางการค้า
“โดยส่วนตัวเชื่อว่าหากอังกฤษออกจาก EU จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีต่อประชาชนอย่างรุนแรง จึงเชื่อมั่นได้ว่าผลมติวันที่ 23 มิถุนายนนี้ เสียงข้างมากจากประชาชนจะลงมติให้อังกฤษคงอยู่ใน EU ต่อไป”
ซึ่งปัจจุบันตลาด EU ถือเป็นคู่ค้าสำคัญของอังกฤษ โดยมีสัดส่วนการค้ากว่า 35% ที่จะส่งผลกระทบต่อทันทีหากอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เนื่องจากการขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุนและการเปลี่ยนแปลงในกฎระเบียบต่างๆ รวมทั้งอาจเกิดความเสี่ยงในธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็กที่ดำเนินการอยู่ใน UK ด้วยเหตุของมาตรการทางภาษีและเงื่อนไขในการทำการค้าการผลิต ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดภาวะความถดถอยทางเศรษฐกิจระดับการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงและค่าเงินสหรัฐจะแข็งค่าขึ้น
ขณะที่ในส่วนผลกระทบกับประเทศไทย คาดว่าในระยะสั้นจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่ในระยะยาวจะส่งผลต่อการค้าส่งออกของไทย เนื่องจากไทยมีมูลค่าการส่งออกไปอังกฤษมากที่สุดในสหภาพยุโรป โดยในปีที่ผ่านมาไทยได้ดุลการค้าจากอังกฤษประมาณ 9.7% จากมูลค่าการค้ารวม 215,412 ล้านบาท และสัดส่วนมูลค่าการส่งออกที่ไทยส่งไปยังอังกฤษประมาณ 1.8% ของมูลค่าการส่งออกรวม ซึ่งการเติบโตในด้านการค้าระหว่างประเทศระหว่างไทยกับอังกฤษนั้นอยู่ภายใต้การทำข้อตกลงทางการค้าที่เกิดขึ้นจาก EU เป็นสำคัญ ดังนั้น หากอังกฤษออกจาก EU ข้อตกลงในเรื่องสิทธิพิเศษทางการค้าต่างๆต้องยุติ และย่อมส่งผลกระทบต่อมูลค่าการค้าการส่งออกของไทยไปอังกฤษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของอังกฤษในครั้งนี้ คาดว่าผลการประชุมของ กนง. ในวันที่ 22 มิถุนายนนั้น จะพิจารณาให้ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างละเอียดอ่อนต่อเศรษฐกิจ โดยคาดการได้ว่า กนง. จะมีมติให้คงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้