xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ห่วงภาวะ ดบ.ต่ำเป็นเวลานาน ประชาชนโยกเงินลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธปท.มองเศรษฐกิจการเงินไทยอยู่ในเกณฑ์ดี ห่วงภาวะ ดบ.ต่ำเป็นเวลานาน ประชาชนโยกเงินลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง ย้ำนักลงทุนควรเข้าใจถึงความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ที่จะลงทุน และระดับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ รวมถึงผู้ขายผลิตภัณฑ์ต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจน โปร่งใส และครบถ้วนแก่นักลงทุน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เพื่อติดตาม และประเมินเสถียรภาพระบบการเงินของไทย โดยระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจการเงินไทยอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากฐานะทางการเงินของสถาบันการเงิน และธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความเข้มแข็ง แม้ว่าคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้จะด้อยลงทั้งจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า และปัญหาภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs และภาคครัวเรือนเกษตร แต่สถาบันการเงินมีเงินสำรอง และเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง

สำหรับเสถียรภาพการเงินด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในเกณฑ์ดีเช่นกัน สะท้อนจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลต่อเนื่อง และเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งจะช่วยรองรับผลกระทบที่อาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงด้านต่างประเทศได้ เช่น ความไม่แน่นอนของแนวนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก การผิดนัดชำระหนี้ของธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศจีน รวมทั้งการที่สหราชอาณาจักรอาจถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู)

ทั้งนี้ ภายใต้ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ทำให้พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนจากการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุน ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผ่านมามีการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น ตราสารที่มีความซับซ้อน และตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งนักลงทุนบางส่วนอาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

ดังนั้น นักลงทุนควรเข้าใจถึงความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ที่จะลงทุน และระดับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ รวมถึงผู้ขายผลิตภัณฑ์ต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจน โปร่งใส และครบถ้วนแก่นักลงทุน โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับความเสี่ยง ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลทั้ง ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระมัดระวัง และติดตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ตลอดมา และปรับปรุงกฎเกณฑ์การกำกับดูแลให้เหมาะสมต่อความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา

นอกจากนี้ ที่ประชุมสนับสนุนแนวทางที่ภาครัฐจะให้ความสำคัญในการปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ให้สอดคล้องต่อความเสี่ยง และปรัชญาการดำเนินงานของสหกรณ์ เนื่องจากสหกรณ์ออมทรัพย์มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีความเชื่อมโยงต่อระบบการเงินเพิ่มขึ้น รวมถึงมีผู้ที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น