โดย ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr.win@one-asset.com
ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา นอกจากตลาดหุ้นทั่วโลกจะผันผวนแล้ว ยังมีอีกหนึ่งเหตุการณ์ซึ่งนักลงทุนอาจจะไม่ได้ติดตามอย่างละเอียด คือ สถาบันคุ้มครองเงินฝากประกาศลดความคุ้มครองเงินฝากเหลือ 25 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลดครั้งที่ 2 ของประวัติศาสตร์ในระบบการเงิน อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการลดวงเงินคุ้มครองเหลือ 25 ล้านบาท แต่สัดส่วนบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองต่อบัญชีเงินฝากทั้งหมดในระบบยังอยู่ในระดับสูงกว่า 99.95% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมด
ในด้านทิศทางการเคลื่อนย้ายเงินฝากถัดจากนี้ไป การลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากจะทำให้ผู้ฝากเงินเริ่มหาช่องทางอื่นๆ ในการบริหารเงินและลงทุนมากขึ้น ในขณะที่ความน่าสนใจของตลาดหุ้นในช่วงนี้ค่อนข้างมีความผันผวน ซึ่งอาจจะไม่เหมาะสำหรับประชาชนทั่วไปที่คุ้นเคยกับการฝากเงิน ดังนั้น สำหรับผู้ที่ไม่เคยลงทุนเลยควรเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยและมีความเสี่ยงน้อยหรือในระดับที่ใกล้เคียงเงินฝากเป็นหลักและให้ผลตอบแทนที่ดีเมื่อเทียบกับเงินฝาก
หากจะเปรียบเทียบสินทรัพย์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงในระดับที่ใกล้เคียงกับเงินฝาก ทางเลือกแรกคือการลงทุนในสินทรัพย์ตราสารหนี้ และสำหรับประชาชนทั่วไปผมแนะนำ กองทุนประเภทกองทุนตลาดเงิน (Money Market) ซึ่งหากพิจารณาในเรื่องวัตถุประสงค์การพักเงินหรือออมเงินแล้ว กองทุนประเภทตลาดเงินก็เอื้อต่อการพักเงิน หรือการออมเงินของประชาชนทั่วไปด้วยเช่นกัน เพียงแต่ความรวดเร็วของการไถ่ถอนเงินจะแตกต่างกัน ซึ่งโดยทั่วไปใช้เวลา 1 วันทำการ ซึ่งเบื้องต้นคือผู้ลงทุนจะต้องวางแผนการใช้เงินล่วงหน้า
นอกจากนี้ ประชาชนทั่วไปที่สนใจกองทุนตราสารหนี้ประเภทอื่นๆ ซึ่งจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่ากองทุนตลาดเงิน โดยปัจจุบันมี 2 ประเภท คือ กองทุนตราสารหนี้ทั่วไป และกองทุนตราสารหนี้เพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย ซึ่งกองทุนตราสารหนี้ประเภทหลัง จะระบุคุณสมบัติของผู้ลงทุนไว้ชัดเจน เช่น วงเงินลงทุนขั้นต่ำที่สูงกว่ากองทุนตราสารหนี้ทั่วไป และสามารถลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงได้ โดยผลตอบแทนก็จะสูงขึ้นตามลำดับ ซึ่งผู้จัดการกองทุนจะเป็นผู้คัดเลือกหลักทรัพย์ชั้นดีที่ผ่านเกณฑ์ลงทุนในตราสารหนี้ โดยพิจารณาจากระดับความเสี่ยงที่ใกล้เคียงกับการเงินฝาก โดยมีปัจจัยสำคัญที่ควรพิจารณาสำหรับกองทุนตราสารหนี้ทั่วไป คือ การพิจารณาชื่อของบริษัทผู้ออกตราสารและชื่อตราสารที่จะลงทุน หรือดูรายละเอียดในส่วนของ Fixed Income Universe ซึ่งจะต้องได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ Investment Grade ในขณะที่กองทุนตราสารหนี้เพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อยสามารถลงทุนตราสารที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้ หรือ Non-investment Grade
การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ต้องให้ความสำคัญต่อ Fixed Income Universe เพราะสามารถสะท้อนความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสาร (Issuer) ผู้ค้ำประกัน (Guarantor) ซึ่งสามารถเชื่อมโยงให้เห็นถึงความเสี่ยงโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ (Default Risk) เพราะหากเลือกลงทุนผู้ออกตราสารที่ไม่สามารถวิเคราะห์ฐานะการเงินและคุณภาพของบริษัทในอนาคตบริษัทผู้ออกตราสารอาจมีการผิดนัดชำระหนี้ นั่นหมายถึงความเสี่ยงที่จะขาดทุนหรือสูญเสียเงินต้นจากการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ เพราะการลงทุนในตราสารหนี้คือผู้ลงทุนเปรียบเสมือนเจ้าหนี้โดยมีตราสารหนี้เป็นหลักทรัพย์ค้ำกัน โดยสัญญาว่าบริษัทผู้ออกตราสารหนี้จะนำเงินที่เป็นเงินต้นมาคืนให้เจ้าหนี้ พร้อมอัตราดอกเบี้ยตามอายุสัญญาที่ระบุไว้ในตราสารหนี้
ดังนั้น กล่าวให้เข้าใจง่ายๆ คือ หากเลือกลูกหนี้ที่ไม่มีมาตรฐานหรือไม่น่าเชื่อถือโอกาสไม่รับเงินคืนก็มีสูงขึ้น อย่างไรก็ดี สำหรับกองทุนตราสารหนี้ทั่วไป ผู้ลงทุนรายใหม่ๆ ถือว่ามีความเสี่ยงลดลง เพราะทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะมีกฎเกณฑ์บังคับให้กองทุนตราสารหนี้ลงทุนในตราสารหนี้ระดับ Investment Grade เท่านั้น
ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากองทุนตราสารหนี้เมื่อเปรียบเทียบกับเงินฝากถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับประชาชนทั่วไปที่กำลังมองหาช่องทางอื่นๆ ในการพักเงินหรือออมเงินในยุคที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับอัตราผลตอบแทนและระยะเวลาลงทุนของแต่ละกองทุน สามารถสอบได้ที่เจ้าหน้าที่การตลาดที่แนะนำผลิตภัณฑ์กองทุนรวมครับ
•นักลงทุนสามารถสอบถามเพิ่มเติมและขอรับร่างหนังสือชี้ชวนได้ที่ฝ่ายบริการลูกค้าและสนับสนุนธุรกิจที่หมายเลข 0-2659-8888 ต่อ 1 ครับ
•“ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน”