โดย ฐนิตา ตุมราศวิน
Fund Management Group
กองทุนบัวหลวง
ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวล่าช้า ส่งผลให้การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลายแห่งในช่วงที่ผ่านมามีทิศทางเชิงผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดเพื่อประคับประคองการเติบโตทางเศรษฐกิจ
Search for Yield คืออะไร?
ทั้งนี้ เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องยาวนาน ย่อมส่งผลให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ อยู่ในระดับต่ำตามไปด้วย โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำอย่างพันธบัตรรัฐบาล จึงนับเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้นักลงทุนเกิดพฤติกรรม “Search for Yield” หรือการหันไปถือครองสินทรัพย์อื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น แม้ต้องแลกมากับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยความเสี่ยงดังกล่าวก็ได้แก่ ความเสี่ยงด้านตลาด (Market Risk) ความเสี่ยงด้านเครดิต หรือความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (Credit Risk) และความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) รวมไปถึงความเสี่ยงจากการที่นักลงทุนอาจประเมินความเสี่ยงในการลงทุนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (Underpricing of Risks)
ทั้งนี้ พฤติกรรมดังกล่าวสามารถพบเห็นได้ทั้งในตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ โดยการลงทุนในตลาดหุ้นนั้นนับเป็นตัวเลือกที่นิยมของนักลงทุนที่ต้องการหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้นบริษัทขนาดกลาง-เล็ก สำหรับตลาดหุ้นไทย นักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนรายย่อยได้มีการซื้อสะสมมาค่อนข้างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของพฤติกรรม Search for Yield ของนักลงทุนในประเทศต่อตลาดหุ้นน่าจะยังมีไม่มากนัก เนื่องจากนักลงทุนไทยส่วนใหญ่ยังคงใช้เงินสดในการซื้อขายหลักทรัพย์มากกว่า แม้ว่าสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายของบัญชี Margin จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ
นอกจากพฤติกรรม Search for Yield ของนักลงทุนในประเทศแล้ว ความเสี่ยงในตลาดการเงินก็สามารถเกิดจากพฤติกรรมแบบเดียวกันของนักลงทุนต่างชาติได้ โดยเฉพาะภายใต้ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศมีความเหลื่อมล้ำกัน เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติก็ต้องการแสวงหาสินทรัพย์อื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าสินทรัพย์ในประเทศของตน ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ นับตั้งแต่ต้นปี 2016 นักลงทุนต่างชาติได้กลับเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้และตราสารทุนในเอเชียอีกครั้ง ภายหลัง Fed มีท่าทีชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่ BOJ ก็หันมาใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบเช่นเดียวกับ ECB
สำหรับตลาดตราสารหนี้ เมื่ออัตราผลตอบแทนอยู่ในระดับต่ำ เรามักพบว่านักลงทุนส่วนใหญ่จะมองหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยการหันไปถือครองตราสารหนี้ที่มีระยะตราสารยาวมากขึ้น หรือตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือลดลง ซึ่งในขณะนี้ภาคธุรกิจไทยโดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้มากขึ้น
โดยการออกหุ้นกู้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Non-rated Bond) เพื่อประโยชน์จากต้นทุนการระดมทุนที่ต่ำลง เห็นได้จากตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวที่นำมาขึ้นทะเบียนกับสมาคมตราสารหนี้ไทยนับตั้งแต่ต้นปี 2016 ที่ผ่านมามีจำนวนทั้งสิ้น 96 รุ่น รวมมูลค่า 177,867 ล้านบาท โดยเป็นตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือถึง 21.3% ของมูลค่ารวม ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3.5% ในปี 2013
แต่เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. กำหนดให้ผู้ลงทุนในตราสารหนี้ชนิดนี้จะต้องเป็นผู้ลงทุนประเภท Accredited Investors (AI) ซึ่งได้แก่ ผู้ลงทุนสถาบัน เช่น กองทุนรวม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือถ้าเป็นผู้ลงทุนแบบบุคคลธรรมดาก็จะต้องเข้าเงื่อนไขมีทรัพย์สินสุทธิตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีเงินลงทุนโดยตรงในหลักทรัพย์/สัญญาซื้อขายล่วงหน้าตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งผู้ลงทุนเหล่านี้ถือว่าเป็นผู้ลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจในตลาดเงินตลาดทุน และรู้จักความเสี่ยงของตัวเอง ทำให้ความเสี่ยงในระบบการเงินที่จะเกิดจากการลงทุนในหุ้นกู้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือยังถือว่าอยู่ในวงจำกัด
ติดตามต่อสัปดาห์หน้า