xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกลบ 5.78% ต่ำสุดในรอบ 6 ปี ห่วง 59 อาการหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 -ส่งออก ธ.ค.ติดลบ 8.73% หนักสุดในรอบ 4 ปี 1 เดือน ทำยอดรวมทั้งปีลด 5.78% มากสุดในรอบ 6 ปี เหตุเศรษฐกิจโลกชะลอตัว น้ำมันดิ่ง เกษตรราคาวูบ ยันปี 59 ต้องพยายามทำให้ได้ตามเป้า 5% แต่น่าห่วง หลัง IMF ปรับลดเศรษฐกิจโลกเหลือ 3.4% น้ำมันยังผันผวน

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าไทยเดือน ธ.ค. 2558 มีมูลค่า 17,100.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8.73% การนำเข้ามีมูลค่า 15,612.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.23% ส่งผลให้ไทยได้ดุลการค้าเดือน ธ.ค.มูลค่า 1,487 ล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกทั้งปี 2558 มีมูลค่า 214,375.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.78% การนำเข้ามีมูลค่า 202,654.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 11.02% โดยทั้งปีไทยยังเกินดุลการค้า มูลค่า 1.17 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า การส่งออกเดือนธ.ค.2558 ในด้านมูลค่าถือว่าทำได้ต่ำสุดในรอบ 8 เดือนนับจากเดือน เม.ย. 2558 ที่ส่งออกได้ 16,895.9 และอัตราการขยายตัวถือว่าติดลบมากสุดในรอบ 4 ปี 1 เดือน นับจากเดือน พ.ย. 2554 ที่ติดลบ 11.59% และยอดรวมส่งออกทั้งปี ที่ลบ 5.78% เป็นการติดลบมากที่สุดในรอบ 6 ปี นับจากปี 2552 ที่ส่งออกติดลบ 14.3%

สาเหตุที่ทำให้การส่งออกเดือน ธ.ค. 2558 ลดลง มาจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ลดลง 9.8% เช่น ข้าว ลด 22.5% ยางพารา ลด 25.2% น้ำตาล ลด 8.5% ส่วนอาหาร เพิ่ม 5.5% ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ลดลง 6.7% เช่น เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ลด 6.4% ยานยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลด 1.4% เครื่องใช้ไฟฟ้า ลด 12.2% อัญมณีและเครื่องประดับ ลด 23.3% น้ำมันสำเร็จรูป 40.8% เม็ดพลาสติก ลด 10%

ขณะที่ตลาดส่งออกพบว่า ตลาดหลักลด 5.2% ได้แก่ ญี่ปุ่น ลด 9.8% สหรัฐฯ ลด 7.2% ยำเว้นสหภาพยุโรป (อียู) เพิ่ม 2.3% ตลาดศักยภาพสูง ลด 8.5% เช่น อาเซียน ลด 6.3% โดยอาเซียนเดิม ลด 15.2% CLMV บวก 7.4% จีน ลด 6.1% อินเดีย ลด 13.4% ตลาดศักยภาพรอง ลด 11.3% เช่น ตะวันออกกลาง ลด 9.3% แอฟริกา ลด 32.3% กลุ่ม CIS และรัสเซีย ลด 42.8% เป็นตัน ตลาดอื่นๆ ลด 53%

ส่วนการนำเข้าในเดือน ธ.ค. 2558 พบว่า การนำเข้าสินค้าทุน ลดลง 7.96% วัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ลดลง 2.69% เชื้อเพลิง ลด 25.73% เป็นต้น

สำหรับสาเหตุที่ทำให้การส่งออกทั้งปี 2558 ลดลง เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะการนำเข้าเกือบทุกประเทศหดตัวลง โดยการนำเข้าช่วง 11 เดือนของ 2558 พบว่า ญี่ปุ่นนำเข้าลดลง 20.3% จีน ลด 18.8% เกาหลีใต้ ลด 16.7% สหรัฐฯ ลด 4.2% เป็นต้น และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ไม่มีแนวโน้มจะฟื้นตัว โดยราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ ณ เดือน ธ.ค. 2558 เฉลี่ยอยู่ที่ 34.7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงต่ำกว่า ธ.ค. 2557 ที่ราคาเฉลี่ย 60.39 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

นอกจากนี้ การส่งออกที่ชะลอตัวลดลงยังเป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลง โดยปี 2558 ราคาข้าวลดลงถึง 10.9% ยางพารา ลดลง 20.3% น้ำตาลทราย ลด 7.2% ส่งผลให้ไทยแม้ว่าจะส่งออกสินค้าเกษตรในปริมาณที่ไม่ต่ำกว่าเดิม แต่มูลค่าที่ได้กลับลดลงมาก โดยเฉพาะการส่งออกข้าวปี 2558 ที่ส่งออกได้ปริมาณ 9.79 ล้านตัน ลดลง 10.7% เทียบกับการส่งออกข้าวปี 2557 มีปริมาณ 10.9 ล้านตัน แต่ในแง่มูลค่าลดลง 15.2% และยังมีการแข่งขันจากการลดค่าเงินของประเทศต่างๆ แต่ค่าเงินของไทยอ่อนค่าน้อยกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทำให้สินค้าไทยแพงกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

นายสมเกียรติกล่าวว่า การส่งออกในปี 2559 ที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 5% ซึ่งเป็นความหวัง ยังไงจะต้องทำงานเพื่อให้ถึงเป้าให้ได้ แต่ไม่อยากให้มองเพียงแค่ส่งออกจะโตหรือไม่โต อยากให้มองในแง่ของการทำงานที่จะรักษาส่วนแบ่งตลาดส่งออกไทยเอาไว้ด้วย เพราะในปีที่แล้ว แม้ส่งออกทั้งปีจะติดลบ แต่ส่วนแบ่งตลาดของไทยไม่ได้ลดลงเลย และมั่นใจว่าเมื่อเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจคู่ค้าดีขึ้น ราคาน้ำมันกลับมาเป็นปกติ การส่งออกไทยก็จะอยู่ตำแหน่งที่สามารถผลักดันให้ขยายตัวได้เพิ่มขึ้นในทันที

สำหรับปัจจัยบวกที่จะส่งผลต่อการส่งออกในปี 2559 หากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ก็จะทำให้การส่งออกสินค้าในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดีขึ้น ราคาสินค้าเกษตรก็จะปรับตัวดีขึ้น และหากเศรษฐกิจดีขึ้น ก็จะทำให้กลุ่มยานยนต์ส่งออกได้เพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวดี โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเหลือ 3.4% จากเดิม 3.6% และเศรษฐกิจสหรัฐฯ เหลือ 2.6% จีนเหลือ 6.3% และน้ำมันที่ยังมีความผันผวน หากยังลดลง จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่มีรายได้จากน้ำมันลดลง และมีการนำเข้าลดลง ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกของไทยด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น