xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออก ก.ย.ยังไม่ฟื้น ลดลงอีก 5.51% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ส่งออก ก.ย.ติดลบ 5.51% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ส่วนการนำเข้าลด 26.20% เหตุผู้นำเข้ารอดูสถานการณ์ค่าเงินบาท เผยยอดรวม 9 เดือนยังติดลบ 4.98% “พาณิชย์” คาดหาก 3 เดือนที่เหลือส่งออกได้เดือนละ 1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ยอดทั้งปีติดลบ 3.5% แต่ถ้าน้อยกว่านี้ก็ติดลบเพิ่มขึ้น ประเมินส่งออกยังมีปัจจัยเสี่ยงเพียบ

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน ก.ย.2558 มีมูลค่า 18,815.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.51% ซึ่งยอดติดลบดีขึ้นกว่าเดือนก่อนที่ลดลง 6.69% แต่ยังเป็นการส่งออกที่ลดลงต่อเนื่องมาตลอดทั้งปีนับตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา และการนำเข้ามีมูลค่า 16,021.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 26.20% ซึ่งมาจากการลดลงของกลุ่มเชื้อเพลิง 44% สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ลด 28.1% เพราะผู้นำเข้ารอดูสถานการณ์ค่าเงิน โดยไทยยังเกินดุลการค้าเป็นมูลค่า 2,794 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนการส่งออกในช่วง 9 เดือนของปี 2558 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 161,563.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.98% และการนำเข้ามีมูลค่า 153,804.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 10.46% โดยเกินดุลการค้ามูลค่า 7,758.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

สาเหตุที่ทำให้การส่งออกในเดือน ก.ย.ลดลง เนื่องจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ลดลง 9.9% ตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก โดยยางพาราลดลง 7.4% ข้าว ลด 28.8% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลด 28.6% อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ลด 7.4% ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม ลดลง 1.9% จากการลดลงของสินค้าที่เกี่ยวเนื่องต่อน้ำมัน เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ลดลง 45.6%, 39.3% และ 11.1%

อย่างไรก็ตาม การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยเพิ่มขึ้น 20.6% จากการส่งออกรถยนต์นั่งเพิ่มขึ้น 144.12% แต่รถกระบะลดลง 24.4% รวมถึงทองคำที่กลับมาส่งออกได้เพิ่มขึ้น 589.5% จากราคาทองคำสูงขึ้น ทำให้มีการส่งออกเพื่อเก็งกำไร

สำหรับตลาดส่งออก พบว่า ตลาดญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลักส่งออกลดลง 6.9% และ 5.6% แต่สหรัฐฯ กลับมาส่งออกได้เพิ่มขึ้น 1.1% จากที่ติดลบในเดือน ส.ค. 1.9% ตลาดศักยภาพสูง ลดลง 8.4% จากการลดลงของตลาดอาเซียนเดิม 5 ประเทศ 20.1% แต่อาเซียนใหม่ (CLMV) เพิ่มขึ้น 4.7% จีน ลดลง 1.7% อินเดีย ลดลง 12.5% เกาหลีใต้ ลดลง 20.9% และไต้หวัน ลดลง 18.3% ตลาดศักยภาพระดับรอง ลดลง 4.1% จากการลดลงของแอฟริกา 23.6% กลุ่ม CIS และรัสเซีย ลด 34.8% แคนาดา ลด 11.4%

นายสมเกียรติ กล่าวว่า การส่งออกในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ (ต.ค.-ธ.ค.) หากส่งออกได้เดือนละ 1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้ยอดการส่งออกรวมจะติดลบที่ประมาณ 3.5% ซึ่งใกล้เคียงกับประมาณการส่งออกที่ประเมินไว้ว่าทั้งปีจะติดลบที่ 3% แต่ถ้าส่งออกทำได้แค่เดือนละ 1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกทั้งปีก็จะขยายตัวติดลบประมาณ 5%

ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีส่วนกระทบต่อการส่งออกจากนี้ไปมาจากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงขยายตัวลดลง โดยล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเหลือ 3.1% จากเดิม 3.3% ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ไม่มีแนวโน้มฟื้นตัว คาดว่าทั้งปีน่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล การค้าโลกทั้งปีขยายตัวติดลบ 11.1% และเงินบาทแม้จะอ่อนค่าลง แต่เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นถือว่าลดลงน้อยมาก

นายสมเกียรติ กล่าวว่า การส่งออกของไทยแม้จะส่งออกได้ลดลง แต่เมื่อเทียบกับประเทศที่ส่งออกอื่นๆ ไทยไม่ได้ด้อยกว่า โดยจากสถิติการส่งออก 8 เดือนของประเทศต่างๆ พบว่า ออสเตรเลีย ส่งออกลดลง 21.8% ฝรั่งเศส ลด 14.3% สิงคโปร์ ลด 14% ญี่ปุ่น ลด 9.2% เกาหลีใต้ ลด 6.4% และสหรัฐฯ ลด 6.1% ขณะที่จีน ซึ่งเดิมส่งออกขยายตัวมาโดยตลอด ก็ส่งออกติดลบ 1.4% รวมถึงฮ่องกงที่ลดลง 2.2%



กำลังโหลดความคิดเห็น