เอกชนเผยส่งออกลด เหตุเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจคู่ค้าเป็นตัวฉุด หวังครึ่งปีหลังฟื้นตัวดีขึ้น “พาณิชย์” วิเคราะห์ส่งออกไทยลดไม่มากเมื่อเทียบกับชาติอื่น ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดยังคงเพิ่มขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้แถลงตัวเลขการส่งออกเดือน มิ.ย. 2558 ที่ทำได้มูลค่า18,161.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.87% การนำเข้ามีมูลค่า 18,011.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.21% โดยเกินดุลการค้ามูลค่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกในช่วง 6 เดือนของปี 2558 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 106,855.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.84% การนำเข้ามีมูลค่า 103,382.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.91% โดยเกินดุลการค้ามูลค่า 3,472.7 ล่านเหรียญสหรัฐ
พร้อมกันนี้ กระทรวงพาณิชย์กำลังอยู่ระหว่างการประเมินตัวเลขการส่งออกและแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลัง ก่อนที่จะประมาณการตัวเลขการส่งออกของปี 2558 ใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน
ล่าสุด ภาคเอกชน โดยนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้แสดงความคิดเห็นว่า การส่งออกที่ลดลงเกิดขึ้นกับทุกประเทศที่เป็นผู้ส่งออก เพราะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัวลง ทำให้มีการนำเข้าลดลง แต่ยังดีที่การส่งออกของไทยหดตัวน้อยกว่าประเทศที่ส่งออกอื่นๆ และภาคเอกชนยังหวังว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำแผนผลักดันการส่งออกเป็นรายกลุ่มสินค้าออกมาแล้ว
สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การส่งออกฟื้นตัวขึ้น ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า หากเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็จะช่วยให้การส่งออกดีขึ้น ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก หากปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะทำให้สินค้าเกษตร สินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศส่งออกได้เพิ่มขึ้นและแข่งขันได้ดีขึ้น
ด้านนายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวเสริมว่า การส่งออกของไทยไม่ได้แย่กว่าที่หลายๆ ฝ่ายได้แสดงความกังวล เพราะแม้ยอดส่งออกจะปรับตัวลดลง ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก แต่เมื่อดูถึงส่วนแบ่งการตลาดของไทยในประเทศต่างๆ พบว่าไม่ได้ปรับตัวลดลง และยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยยังคงสูงขึ้น
โดยการส่งออกของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ส่งออกในตลาดโลกจำนวน 20 อันดับแรก ตามข้อมูลของ Global Trade Atlas ที่มีข้อมูลการส่งออกล่าสุดถึงเดือน พ.ค. 2558 พบว่าอัตราการหดตัวของมูลค่าส่งออกของไทยยังจัดว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยการส่งออกในช่วง 5 เดือนของปี 2558 (ม.ค.-พ.ค.) ติดลบ 4.2% ขณะที่ประเทศอื่นๆ ติดลบมากกว่าไทย ได้แก่ รัสเซีย ลบ 29.2% ออสเตรเลีย ลบ 21.9% นิวซีแลนด์ ลบ 17.9% บราซิล ลบ 17.1% ฝรั่งเศส ลบ 16.8% ชิลี ลบ 14.9% อินเดีย ลบ 14.3% สิงคโปร์ ลบ 13.3% มาเลเซีย ลบ 13.1% สหราชอาณาจักร ลบ 12.2% แคนาดา ลบ 12.2% ญี่ปุ่น ลบ 7.8% แอฟริกาใต้ ลบ 7% เกาหลีใต้ ลบ 5.7% ไต้หวัน ลบ 5.6% สหรัฐฯ ลบ 5.2% ไอร์แลนด์ ลบ 4.2% และฮ่องกง ลบ 2.4% มีเพียงแค่จีนเท่านั้นที่ส่งออกเพิ่ม 0.5%
ส่วนการนำเข้า ผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจตลาดคู่ค้าหลักชะลอตัวลง โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ส่งผลให้การนำเข้าของเกือบทุกประเทศทั่วโลกยังคงหดตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเข้าของคู่ค้าสำคัญของไทย ได้แก่ รัสเซีย ลบ 39.2% สิงคโปร์ ลบ 21.9% ญี่ปุ่น ลบ 21.2% จีน ลบ 21% ฝรั่งเศส ลบ 19.2% บราซิล ลบ 16.9% เกาหลีใต้ ลบ 16% ชิลี ลบ 15.1% ไต้หวัน ลบ 14.4% นิวซีแลนด์ ลบ 12.7% ออสเตรเลีย ลบ 12.1% ไอร์แลนด์ ลบ 11.7% อินเดีย ลบ 11.1% มาเลเซีย ลบ 10.9% แอฟริกาใต้ ลบ 10.6% สหราชอาณาจักร ลบ 8.6% ฮ่องกง ลบ 7% แคนาดา ลบ 6.5% และสหรัฐฯ ลบ 3.9%
อย่างไรก็ตาม แม้การส่งออกของไทยจะปรับตัวลดลง แต่ไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ในประเทศคู่ค้าสำคัญไว้ได้ และส่วนแบ่งตลาดของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-พ.ค.) คงที่และเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2557 ได้แก่ สหรัฐฯ เพิ่มเป็น 1.28% จาก 1.16% จีน เพิ่มเป็น 2.22% จาก 1.95% ญี่ปุ่น เพิ่มเป็น 3.13% จาก 2.68% อินเดีย เพิ่มเป็น 1.49% จาก 1.23% สหภาพยุโรป เท่าเดิม 1.09% สิงคโปร์ เพิ่มเป็น 2.61% จาก 2.39% ฟิลิปปินส์ เพิ่มเป็น 5.71% จาก 5.33% มาเลเซีย เพิ่มเป็น 5.93% จาก 5.80% ฮ่องกง เท่าเดิม 2.01% เกาหลีใต้ เพิ่มเป็น 1.12% จากเดิม 1.02% ออสเตรเลีย เพิ่มเป็น 4.98% จาก 4.31% และไต้หวัน เพิ่มเป็น 1.77% จาก 1.58%