ส่งออก มิ.ย.ลดลง 7.87% ขยายตัวติดลบเป็นเดือนที่ 6 และลบมากสุดในรอบ 3 ปี 6 เดือน เหตุส่งออกรถกระบะทรุดหนัก 48.3% จากการเปลี่ยนรุ่น รวมถึงน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติกที่ลดลง ส่วนข้าว อาหารทะเล กุ้ง น้ำตาล ยังลดต่อเนื่อง เผยตลาดสหรัฐฯ กลับมาลบครั้งแรกในรอบ 9 เดือน คาดส่งออกฟื้นยากหลังเศรษฐกิจคู่ค้าซบเซา หวังบาทอ่อนช่วยปั๊มยอดครึ่งปีหลัง
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือน มิ.ย.2558 ยังคงขยายตัวอยู่ในแดนลบ โดยมีมูลค่า 18,161.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.87% การนำเข้ามีมูลค่า 18,011.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.21% โดยเกินดุลการค้ามูลค่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ การส่งออกเดือน มิ.ย.ที่ลดลง 7.87% นั้น เป็นการขยายตัวติดลบเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันนับจากเดือน ม.ค.2558 และขยายตัวติดลบมากสุดในรอบ 3 ปี 6 เดือน นับจากเดือน ธ.ค.2554 ที่ขยายตัวติดลบ 8.15%
ส่วนการส่งออกในช่วง 6 เดือนของปี 2558 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 106,855.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.84% การนำเข้ามีมูลค่า 103,382.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.91% โดยเกินดุลการค้ามูลค่า 3,472.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
นาย สมเกียรติ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้การส่งออกในเดือน มิ.ย.ลดลง เนื่องจากสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกลดลง 7.7% ซึ่งมีผลจากการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทย ลดลงถึง 19.1% จากการลดลงของการส่งออกรถกระบะที่ติดลบ 48.3% เพราะการเปลี่ยนรุ่น แต่รถยนต์นั่งยังโต 0.4% ขณะที่น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ลดลง 13.1%, 24.3% และ 11% ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลง รวมถึงทองคำที่กลับมาหดตัวถึง 49.7%
สำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ก็ลดลง 4.1% จากการลดลงของข้าว 21.1% อาหารทะเลแช่แข็ง ลด 10.5% กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป ลด 22.1% น้ำตาลทราย ลด 12.3% แต่ยางพารา ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ในกลุ่มเกษตรกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 18 เดือน โดยเพิ่มขึ้น 4.4% เช่นเดียวกับมันสำปะหลัง ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 24.6%, 20.1% และ 6.3% ตามลำดับ
ทางด้านตลาดส่งออก พบว่า สหรัฐฯ ลดลง 0.1% กลับมาติดลบครั้งแรกในรอบ 9 เดือน จากการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า ลดลง ตลาดญี่ปุ่น ลดลง 4.2% สหภาพยุโรป (อียู) ลดลง 7.1% จีน ลดลง 0.8% จากการส่งออกลดลงของเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก แต่ตลาด CLMV ยังคงเติบโตสูงถึง 10.8%
นายสมเกียรติ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกจากนี้ไปยังคงขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโลก เพราะขณะนี้เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทยยังคงชะลอตัว ทั้งสหรัฐฯ อียู ญี่ปุ่น และจีน ส่งผลให้การนำเข้าลดลง ซึ่งรวมถึงคู่ค้าอื่นๆ ที่เศรษฐกิจชะลอตัว จึงมีการนำเข้าลดลง และส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยคู่ค้าที่นำเข้าลดลงจากตัวเลขที่มีในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เช่น รัสเซีย ลด 39.2% ญี่ปุ่น ลด 21.2% จีน ลด 21% สหรัฐฯ ลด 3.9% เป็นต้น
ส่วนการส่งออกของไทยแม้จะลดลง แต่เมื่อเทียบกับประเทศผู้ส่งออกอื่นๆ ก็พบว่าส่งออกลดลงน้อยกว่า เช่น รัสเซีย ติดลบ 29.2% ออสเตรเลีย ลบ 21.9% นิวซีแลนด์ ลบ 17.9% หรือคู่แข่งอย่างสิงคโปร์ ลบ 13.3% และมาเลเซีย ลบ 13.1% โดยมีจีนเพียงประเทศเดียวที่ส่งออกเป็นบวก 0.5%
นอกจากนี้ ผลจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังคงชะลอตัวจะส่งผลต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องต่อน้ำมัน เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก ราคาสินค้าเกษตรตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงจะทำให้มูลค่าส่งออกยางพารา และน้ำตาลทรายลดลง
อย่างไรก็ตาม คาดว่าการที่เงินบาทอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 34.1 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะช่วยส่งเสริมให้การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศขายได้มากขึ้น และแข่งขันได้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง แต่ก็จะกระทบต่อการนำเข้าสินค้ากลุ่มเครื่องจักรและสินค้าทุน ที่จะมีต้นทุนสูงขึ้น