ส่งออกไทยเดือน ส.ค.ลดลง 6.69% ขยายตัวติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ในรอบปีนี้ เหตุเศรษฐกิจโลก คู่ค้า ยังคงชะลอตัว น้ำมันลด ฉุดสินค้าเกี่ยวเนื่องลดตาม สินค้าเกษตรยังคงตกต่ำ แถมคู่แข่งลดค่าเงินทำให้สินค้าไทยแข่งได้ยากขึ้น ย้ำแม้ไทยส่งออกลดแต่ก็ไม่ได้ลดลงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แถมส่วนแบ่งตลาดไม่ลด เผยลุ้นยานยนต์เป็นพระเอกช่วยฉุดส่งออกทั้งปีไม่ให้ติดลบเกิน 3%
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าไทยในเดือน ส.ค. 2558 มีมูลค่า 17,669.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.69% เป็นการส่งออกติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 นับจากเดือน ม.ค. 2558 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 16,948 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.77% โดยเกินดุลการค้ามูลค่า 721.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
สาเหตุที่ทำให้การส่งออกลดลงมาจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและคู่ค้าที่ยังคงชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ทำให้มีการนำเข้าลดลง ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกชะลอตัวต่อเนื่อง และไม่มีแนวโน้มฟื้นตัว ทำให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันส่งออกได้ลดลง ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรตลาดโลกก็ปรับตัวลดลงมาก กระทบต่อราคาส่งออกของไทยแม้ปริมาณจะไม่ลดลง
นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการลดค่าเงินของคู่ค้าสำคัญเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการส่งออก โดยค่าเงินยูโรอ่อนค่า 12.7% ค่าเงินออสเตรเลียดอลลาร์ของออสเตรเลียลดลง 24.6% ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียลดลง 33.2% ส่วนไทยลดลง 11.9% ซึ่งน้อยกว่าสกุลเงินอื่น ทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ยากและมีราคาแพง แม้ว่าเงินบาทจะอ่อนค่ามาอยู่ที่ 36.28 บาทต่อเหรียญสหรัฐก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับจีนที่ได้ลดค่าเงินหยวน ไทยยังคงอ่อนค่ามากกว่า
ทั้งนี้ เมื่อรวมการส่งออกในช่วง 8 เดือนของปี 2558 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 142,747.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.92% การนำเข้ามีมูลค่า 137,782.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8.18% โดยยังคงเกินดุลการค้ามูลค่า 4,964.4 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายสมเกียรติกล่าวว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรในเดือน ส.ค.ลดลงต่อเนื่องตามราคาสินค้าเกษตรโลก โดยลดลงถึง 8% จากการลดลงของข้าว 31.1% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังลด 37.5% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปลด 14% กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูปลด 25.5% ผลไม้สดแช่เย็นและแช่แข็งลด 2.4% แต่ยางพาราเพิ่มขึ้น 22.5% น้ำตาลเพิ่ม 9.7% ไก่แปรรูปเพิ่ม 4.8% ผลไม้กระป๋องและแปรรูปเพิ่ม 4.7%
ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมยังคงลดลง 3.2% จากการลดลงของสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบหรืออุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างการใช้วัตถุดิบจากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก แต่รถยนต์และส่วนประกอบกลับมาเป็นบวกได้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง โดยเพิ่มขึ้น 6.8% เป็นการเพิ่มขึ้นของรถยนต์นั่ง 86.8% ส่วนรถกระบะยังลดลง 36.1% จากการเปลี่ยนรุ่น และทองคำกลับมาส่งออกได้เพิ่มมากถึง 973.7% จากการส่งออกเพื่อเก็งกำไร
สำหรับตลาดส่งออก พบว่าตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน ยังหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยลดลง 1.9%, 6.7%, 2.3% และ 14.9% ตามลำดับ แต่การส่งออกไปยังตลาด CLMV เพิ่มขึ้น 5.5% จากการค้าชายแดน รวมถึงการส่งออกไปยังจีนที่กลับมาเป็นบวกอีกครั้ง โดยเพิ่มขึ้น 0.4%
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามภาวะการส่งออกของประเทศต่างๆ ในโลก พบว่า การส่งออกของไทยหดตัวต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยสถิติล่าสุดในช่วง 7 เดือน ออสเตรเลียส่งออกลดลง 21.7% ฝรั่งเศส ลด 14.7% สิงคโปร์ ลด 13.1% มาเลเซีย ลด 13.1% ญี่ปุ่นลด 8.1% สหรัฐฯ ลด 5.5% เกาหลีใต้ ลด 5.2% และจีน ลด 0.5% ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่จีนมียอดส่งออกติดลบ แต่เมื่อดูส่วนแบ่งตลาด พบว่า ไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดในประเทศคู่ค้าสำคัญไว้ได้ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย และออสเตรเลีย เป็นต้น
นายสมเกียรติกล่าวว่า กระทรวงฯ ยังคงเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ที่ติดลบ 3% โดยการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้อีก 4 เดือนต้องทำได้ประมาณเดือนละ 1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หากส่งออกทำได้ต่ำกว่านี้การส่งออกก็จะติดลบมากขึ้น ซึ่งก็หวังว่าการส่งออกจะไม่ขยายตัวติดลบมากไปกว่านี้ เพราะจากการติดตามตัวเลขการนำเข้าพบว่า เดือน ส.ค.ที่ผ่านมามีการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบในกลุ่มยานยนต์เข้ามามาก น่าจะส่งผลให้มีการส่งออกได้เพิ่มขึ้นในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า และน่าจะเป็นตัวฉุดที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง เพราะตัวอื่นๆ อย่างสินค้าเกษตรยังไม่น่าจะดีขึ้น