xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกติดลบต่อเนื่องเดือนที่7

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ส่งออกก.ค.ลดลงอีก 3.56% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ส่วนยอดรวม 7 เดือนยังลบอีก 4.66% “พาณิชย์”เผยส่งออกไทยยังดีกว่าหลายประเทศ เหตุติดลบน้อยกว่า คาดแนวโน้มยังไม่ดี หลังเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจคู่ค้าไม่ฟื้นตัว น้ำมันดิบ ราคาเกษตรยังตกต่อ ยันทั้งปียังอยู่ในเป้าลบ 3%
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า การค้าระหว่างประเทศในเดือนก.ค.2558 มีมูลค่าการส่งออก 18,223 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.56% เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน และเมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 609,132 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.09% เป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบปีนี้ หลังเงินบาทอ่อนค่า ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 17,452 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.73% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 590,211 ล้านบาท ลดลง 9.43% โดยเกินดุลการค้า 770 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกินดุล 18,922 ล้านบาท

ส่วนการส่งออกในช่วง 7 เดือนของปี 2558 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 125,078 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.66% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 4.086 ล้านล้านบาท ลดลง 3.40% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 120,835 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8.64% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 3.995 ล้านล้านบาท ลดลง 7.37% โดยเกินดุลการค้า 4,243 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกินดุล 90,803 ล้านบาท

“แม้การส่งออกของไทยจะปรับตัวลดลง แต่เมื่อเทียบกับประเทศส่งออกอื่นๆ พบว่า การส่งออกของไทยหดตัวน้อยกว่าอีกหลายประเทศ ซึ่งสถิติล่าสุดที่เก็บได้ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีหลายประเทศที่ส่งออกลดลงมากกว่าไทย โดยออสเตรเลีย ลดลง 21.3% ฝรั่งเศส ลดลง 14.6% สิงคโปร์ ลดลง 13.1% ญี่ปุ่น ลดลง 8.1% เกาหลีใต้ ลดลง 5.25 สหรัฐฯ ลดลง
5.2% เป็นต้น”นายสมเกียรติกล่าว
นายสมเกียรติกล่าวว่า การส่งออกเดือนก.ค.ที่ปรับตัวลดลง มาจากการลดลงของมูลค่าส่งออกทุกกลุ่มสินค้า โดยสินค้าเกษตร ลดลง 5.1% ตามทิศทางของราคาสินค้าโลกที่ยังคงลดลง โดยยางพาราแม้จะส่งออกได้เพิ่มขึ้น 34.1% แต่มูลค่าเพิ่มเพียง 18.5% ขณะที่น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม ผลไม้กระป๋องและแปรรูป มูลค่าการส่งออกยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำส่วนข้าว อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป มูลค่าการส่งออกหดตัวลง
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ก็ลดลง 2.6% เพราะการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทย กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.8% จากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกรถยนต์นั่ง 77.5% แต่รถกระบะยังลดลง 33.7% เป็นผลจากการเปลี่ยนรุ่นรถ และมูลค่าการส่งออกทองคำเพิ่มขึ้นถึง 21.2% จากราคาทองคำตลาดโลกสูงขึ้น ส่วนราคาน้ำมันสำเร็จรูป และสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยังลดลงตามราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ลดลง แม้ปริมาณการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปของไทยขยายตัวมากถึง 44% ขณะที่สินค้าอื่นๆ ลดลง 10.1%
ทางด้านตลาดส่งออก พบว่า ตลาดหลัก ลดลง 3.1% จากการลดลงของญี่ปุ่น 9.6% สหภาพยุโรป (15 ประเทศ) ลดลง 1.1% แต่สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1.4%, ตลาดศักยภาพสูง ลดลง 3.4% จากการลดลงของอาเซียน (9 ประเทศ) 4.5% จีน ลดลง 1.6% เอาเชียใต้ ลดลง 1.0% เป็นต้น และตลาดศักยภาพระดับรอง ลดลง 2.5% จากการลดลงของตะวันออกกลาง 14.6% แอฟริกา 17.8% เป็นต้น
นายสมเกียรติกล่าวว่า ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในระยะต่อไป มาจากเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักยังคงชะลอตัว ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าลดลง ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกยังคงลดลงต่อเนื่อง โดยเดือนก.ค.ลดลงมากถึง 46.8% และมีแนวโน้มลดลงอีก เช่นเดียวกับราคาสินค้าเกษตรโลกที่ยังลดลง
และการใช้มาตรการลดค่าเงินของประเทศคู่ค้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการส่งออก เช่น เงินยูโร ที่อ่อนค่า 13% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เงินเยนญี่ปุ่น อ่อนค่า 14.8% ค่าเงินริงกิตมาเลเซีย อ่อนค่า 33.1% แต่เงินบาทอ่อนค่า 11.1% ทำให้สินค้าไทยยังแพงและแข่งขันได้ยาก
กำลังโหลดความคิดเห็น