ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -วันก่อน ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่ “นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ในฐานะเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงถึงสภาพเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สอง ปี 2558 ว่ามีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ในเกณฑ์ที่น่าพอใจภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3 ปี รวมทั้งภาวะความตกต่ำของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกและผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง
ทั้งนี้ การปรับประมาณการณ์ GDP ใหม่เหลือโต 2.7-3.2% นั้น เนื่องจากเห็นว่าแม้ว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกจะขยายตัว 2.9% ใกล้เคียงกับกรอบล่างของการขยายตัว 3-4% ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมาก็ตาม แต่อัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้ายังอยู่ในช่วง 0.3-0.4% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลวัตรทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ในครึ่งปีแรก
ขณะที่พลวัตรการฟื้นตัวในครึ่งปีหลังยังมีข้อจำกัดจากเงื่อนไขเศรษฐกิจโลก ทั้งทางด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและความล่าช้าในการฟื้นตัวของราคาสินค้าเกษตร และปัจจัยภายในที่เกิดจากปัญหาภัยแล้ง
นอกจากนี้ การปรับลดสมมติฐานอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจากเดิม 3.4% เป็นการขยายตัว 3.1% ในการประมาณการครั้งนี้ ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปี และต่ำกว่าการขยายตัว 3.2% ในปี 57 โดยช่วงครึ่งหลังของปี 58 การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มที่จะชะลอลงจากครึ่งปีแรก ในขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศยูโรโซนปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ท่ามกลางการอ่อนค่าของเงินเยนและยูโร เงื่อนไขดังกล่าวทำให้แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจโลกต่อภาคการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังยังไม่ปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรกอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกัน ปัญหาภัยแล้งซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงในการประมาณการครั้งที่ผ่านมามีความชัดเจนมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
การขยายตัวในช่วงที่เหลือของปีมีปัจจัยสนับสนุนจาก
1.แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐที่ยังสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
2.การอ่อนค่าของเงินบาทที่จะทำให้รายรับจากการส่งออกและสภาพคล่องในรูปเงินบาทของผู้ประกอบการเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
3.การขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่องของจำนวนนักท่องเที่ยว
4. ราคาน้ำมันและเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งช่วยเพิ่มอำนาจซื้อและเอื้ออำนวยต่อการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลมากขึ้นตามการขยายตัวของภาคท่องเที่ยวและการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวในแดนลบตามสถานการณ์ราคาพลังงานและอุปสงค์ในประเทศซึ่งยังต้องติดตามการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนและการตอบสนองของภาคธุรกิจต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาอย่างใกล้ชิด ในขณะที่เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนในทิศทางอ่อนค่าตามการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ
สภาพัฒน์ ประเมินว่า ทั้งปี 58 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ในช่วง 33.50-34.50 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากระดับเฉลี่ยที่ 32.47 บาท/ดอลลาร์ในปี 57 ขณะที่คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบทั้งปีจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ในช่วง 50-60 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนกรณีที่ทางการจีนประกาศลดค่าเงินหยวน ล่าสุดเงินหยวนอ่อนค่าไป 2-3% และอาจจะมีโอกาสอ่อนค่าไปมากกว่านี้ได้ ในขณะที่เงินบาทอ่อนค่าไปราว 5% นั้น มองว่าหากเงินหยวนอ่อนค่าอยู่ในระดับนี้ ก็จะไม่มีผลกระทบต่อค่าเงินบาทและการส่งออกไทยมากนัก
“ไม่ว่าจะบาทอ่อนบาทแข็ง สิ่งสำคัญอยู่ที่ความสามารถในการแข่งขันของเราเอง เราต้องสร้างความเข้มแข็งของเรา...ความน่าเชื่อถืออยู่ที่นโยบายการเงิน การดูแลเสถียรภาพค่าเงินของเรา อย่างที่ภาคเอกชนเรียกร้องมาตลอด อยากให้บาทนิ่งและมีเสถียรภาพ” เลขาธิการ สศช.กล่าว
ในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจากครึ่งปีแรก ในขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง เงื่อนไขดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อฐานรายได้ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยและธุรกิจ SMEs
ดังนั้น การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปีควรให้ความสำคัญกับประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
1.การใช้จ่ายเงินงบประมาณและขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่อง
2.การดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร มาตรการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และมาตรการช่วยเหลือ SMEs ซึ่งได้เตรียมการไว้แล้ว
3.การแก้ไขปัญหาการผลิตในภาคเกษตร ด้วยการดูแลต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตร การส่งเสริมการรวมกลุ่มและการรวมพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรรายย่อย รวมทั้งการส่งเสริมการทำสัญญาเช่าที่ดินทางการเกษตรในลักษณะการแบ่งปันผลผลิต
4.การแก้ไขปัญหาด้านการส่งออก โดยประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการแสวงหาตลาดและเพิ่มปริมาณสินค้าส่งออกที่สำคัญ และการดูแลค่าเงินบาท ตลอดจนการลดความล่าช้าในกระบวนการทำงานและระเบียบปฏิบัติของภาครัฐ
“เราคาดหวังว่าถ้าครึ่งปีหลังเศรษฐกิจโตได้ 3% ก็จะทำให้ทั้งปีอยู่ที่ 3% ได้ ส่วนโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตได้มากกว่า 3% ก็มีความเป็นได้ไหม ก็มีทั้ง 2 ทาง คือมองโลกในแง่ร้าย หรือมองว่าเป็นไปได้ ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะดีหรือไม่ดีก็ตาม การค้าชายแดนเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะทำอย่างไรในการสร้าง Value Added จากวัตถุดิบของประเทศเพื่อนบ้านได้”
พร้อมกันนี้มองว่า แม้ภาคการส่งออกของไทยในปีนี้อาจจะยังไม่เติบโตนัก แต่เศรษฐกิจไทยยังมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยวเข้ามาช่วยชดเชยได้เกือบ 100% ของรายได้จากการส่งออกปีนี้ที่อาจจะหายไปเกือบ 4% นอกจากนี้ยังมีส่วนเสริมจากการเร่งรัดการใช้จ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐในโครงการลงทุนก่อสร้างใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 สาย ซึ่งคาดว่าสายที่สามารถดำเนินการได้ก่อนคือ สายพัทยา-มาบตาพุด เงินลงทุนมูลค่า 14,000 ล้านบาท, โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง, ศูนย์ขนส่งสินค้าทางรถไฟ รวมทั้งงบกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 40,000 ล้านบาท
ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการ สศช. ระบุเพิ่มเติมถึงการปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อลงจากเดิมมาอยู่ที่ติดลบ -0.7 ถึง -0.2% นั้น สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงการติดลบทางเทคนิค ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มเห็นราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นได้ในไตรมาส 4 ของปีนี้ แต่พอมีปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจในจีนที่ไม่ค่อยดี และมีการประกาศลดค่าเงินหยวน ก็อาจจะทำให้ราคาน้ำมันไม่สามารถปรับขึ้นได้ตามที่คาดไว้ ทั้งนี้หากจะมองในภาพรวมแล้วถือว่ายังไม่ใช่สถานการณ์ของเงินฝืด เพราะไทยยังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการขยายตัวด้านการบริโภค และการลงทุน
“เป็นเงินฝืดทางเทคนิค เพราะเงินเฟ้อปรับตัวลดลงจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงต่อเนื่อง แต่ในส่วนของเศรษฐกิจเรายังมีการขยายตัว รวมทั้งการบริโภคและการลงทุนด้วย” รองเลขาธิการ สศช.ระบุ
เรื่องนี้ “นายสมหมาย ภาษี” รมว.คลังคนปัจจุบันที่กำลังมีชื่อว่ากำลังจะก้าวลงจากตำแหน่ง บอกว่า แม้ สศช. จะปรับลดคาดการร์จีดีพีทั้งปีนี้ลง แต่ “กระทรวงคลัง” ยังมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2558 จะขยายตัวได้ถึง 3.7% เนื่องจากรัฐเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านการลงทุนโครงการและภาคเอกชนเริ่มมีการลงทุนก่อสร้างมากขึ้น
ตอนนี้ต้องมองในเรื่องของงบประมาณปี 2559 ซึ่งจะต้องเร่งให้มีการเบิกจ่าย โดยงบประมาณอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาในวาระ 2 ก็ต้องเตรียมโครงการต่างๆ เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ทันทีเมื่อผ่านการอนุมัติของสภา
“การที่สภาพัฒน์ปรับลดจีดีพีปีนี้เหลือ 3-4% จากเดิมที่ 3.5-4.5% แม้จะต่ำกว่าที่กระทรวงการคลังคาดไว้ 0.2% ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่น่ากังวลอะไร ซึ่งถือว่าเศรษฐกิจมีการเติบโตที่ดีจากปีก่อน เพราะเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น จีน มาเลเซีย เกาหลี ส่วนใหญ่ต่ำกว่าปี 2557” นายสมหมายกล่าวและว่า การส่งออกจะชะลอไปก็คงต้องปล่อยไป ซึ่งส่วนตัวมีความเป็นห่วง แต่เชื่อว่าการส่งออกของไทยมีช่องทางที่สามารถส่งออกไปแถบประเทศเพื่อนบ้านได้ ซึ่งจะช่วยการส่งออกของไทย”
สรุปไตรมาสแรก “สภาพัฒน์” ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2558 เหลือโต 2.7-3.2% จากเดิมคาด 3-4% หลังมองว่าการส่งออกในปีนี้จะติดลบถึง -3.5% จากเดิมคาดว่าจะเติบโตได้ 0.2% และการนำเข้าจะติดลบ -5.5% จากเดิมคาดเติบโต 0.8% ขณะที่ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 58 เป็นติดลบ -0.7% ถึง ติดลบ -0.2% จากเดิมคาดว่าจะติดลบ -0.3% ถึงเติบโต 0.7%
ซึ่ง “ขุนคลัง”ก็ยังมั่นใจจีดีพีไทยปีนี้โตได้ถึง 3.7% หากรัฐบาลสามารถเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน/ก่อสร้างได้มากขึ้น
“จีดีพีไทยปีนี้ จะโตได้ถึง 3.7%”จริงหริอไม่ ผู้ที่จะให้คำตอบได้ คงน่าจะอยู่ที่ “ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่” ที่ล่าสุด(ก่อนโปรดเกล้าฯ)มีชื่อ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ มาเป็น รมว.คลัง นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ มาเป็น รมช.พาณิชย์ นายอุตตม สาวนายน มาเป็น รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) นางอรรชกา สีบุญเรือง มาเป็น รมว.อุตสาหกรรม นายออมสิน ชีวพฤกษ์ มาเป็น รมช.คมนาคม
หรือ พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ (สนช.) ที่อาจจะมาเป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.แรงงาน จะย้ายมาเป็น รมว.พลังงาน
โดยทำงานร่วมกับครม.ชุดเดิมซึ่งอาจจะมีการสลับย้าย ที่ประกอบด้วย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง มาเป็นรองนายกรัฐมนตรี ดูแลงานการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ มาเป็น รมว.เกษตรฯ หรือนางอภิรดี ตันตราภรณ์ ที่จะมานั่ง รมว.พาณิชย์ รวมทั้ง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ที่จะมาเป็น รมว.คมนาคม
ดังนั้น“ จีดีพีไทยไตรมาสสาม และตลอดปี 2558 ต่อเนื่อง”อยู่ที่ฝีมือของพวกท่านเหล่านี้