xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกยังโคม่า! พ.ย.ลดลง 7.42% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 เดือนในรอบปี

เผยแพร่:

ส่งออกอาการโคม่า เดือนพ.ย.ติดลบอีก 7.42% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ในรอบปีนี้ เผยสินค้าที่เกี่ยวเนื่องน้ำมันลงหนัก เกษตรก็แย่ ตลาดส่วนใหญ่ลดหมด คาดตัวเลขทั้งปี น่าจะติดลบ 5.5% ส่วนปีหน้า มั่นใจเป้า 5% ทำได้ แต่ยังห่วงราคาน้ำมันเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนพ.ย.2558 มีมูลค่า 17,166.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.42% ซึ่งถือว่าดีขึ้น เพราะลดลงน้อยกว่าเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ที่ติดลบถึง 8.11% แต่ก็ยังเป็นการส่งออกที่ติดลบมาต่อเนื่องตั้งแต่เดือนม.ค.2558 หรือติดลบติดต่อกัน 11 เดือน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 16,868.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.53% โดยยังเกินดุลการค้า 298.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ การส่งออกในช่วง 11 เดือนของปี 2558 (ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่า 197,275 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.51% การนำเข้ามีมูลค่า 187,041.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 11.16% โดยเกินดุลการค้ามูลค่า 10,233.8 ล้านเหรียญสหรัฐ

“การส่งออกที่ลดลง ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง โดยทำให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับตัวลดลงตามไปด้วย ซึ่งกลุ่มนี้มีสัดส่วนประมาณ 10% ของการส่งออก ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตร ราคายังคงตกต่ำตามราคาสินค้าเกษตรตลาดโลก สินค้าอุตสาหกรรมยังคงหดตัว และตลาดส่งออกส่วนใหญ่หดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งล้วนแต่มีผลต่อการส่งออกของไทย”นายสมเกียรติกล่าว

สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรในเดือนพ.ย.2558 ที่ลดลง 7% มาจากการลดลงของสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ยางพารา ลดลง 12.7% ข้าว ลด 7.9% อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ลด 14.9% น้ำตาล ลด 32.5% แต่ผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ไก่แปรรูป และเครื่องดื่ม ยังคงเพิ่มขึ้น 74.2% , 29.2% 9.4% และ 8.4% ตามลำดับ

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ลดลง 6.8% จากการลดลงของการส่งออกรถกระบะ 23.7% แม้รถยนต์นั่งจะขยายตัว 95.5% ทำให้กลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบเพิ่มขึ้นเพียง 13.7% ขณะที่สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ลดลง 29.8% , 17.3% และ 18.7% ส่วนทองคำ เพิ่มขึ้น 33.4% ตามการส่งออกเพื่อเก็งกำไร

ขณะที่ตลาดส่งออก ส่วนใหญ่หดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยตลาดหลัก สหรัฐฯ ลดลง 6.3% ญี่ปุ่น ลด 4.7% สหภาพยุโรป ลด 6.7% ตลาดศักยภาพสูง อาเซียน ลด 9.8% แต่กลุ่ม CLMV เพิ่มขึ้น 15.4% จากการเพิ่มขึ้นของการค้าชายแดน จีน ลด 6.1% อินเดีย ลด 2.9% ฮ่องกง ลด 6.7% เกาหลีใต้ ลด 1.1% และไต้หวัน ลด 16.6% ตลาดศักยภาพรอง ทวีปออสเตรเลีย ลด 6.8% แอฟริกา ลด 22.7% CIS รวมรัสเซีย ลด 33.4% แคนาดา ลด 12.1% แต่ตะวันออกกลาง เพิ่ม 8.3% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 1.9%

นายสมเกียรติกล่าวว่า การส่งออกทั้งปี 2558 คาดว่าจะติดลบในระดับใกล้เคียงกับตัวเลข 11 เดือน ที่ติดลบ 5.5% ไม่น่าจะเลวร้ายไปกว่านี้ และไม่น่าจะติดลบถึง 7% ส่วนตัวเลขเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ติดลบ 3% เพราะก่อนหน้านี้ประเมินว่าราคาน้ำมันตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นในช่วงปลายปี แต่กลับไม่ขึ้นและยังมีแนวโน้มลดลงอีก ทำให้เป็นปัจจัยฉุดสำคัญในภาคการส่งออก เพราะสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันส่งออกได้ลดลง

ส่วนเป้าหมายการส่งออกปี 2559 ได้ตั้งไว้ว่าจะขยายตัวที่ 5% ซึ่งจะต้องพยายามทำได้ให้ เพราะขณะนี้ได้มีการประเมินการส่งออกของโลกว่าจะเติบโต 2.4% ซึ่งไทยน่าจะทำได้มากกว่า โดยมีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจคู่ค้าฟื้นตัว แต่ก็ต้องติดตามเรื่องราคาน้ำมัน หากลดลงต่อเนื่องต่ำกว่าระดับ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ก็จะยิ่งกระทบต่อการส่งออก ที่จะทำให้สินค้าที่เกี่ยวกับน้ำมันลดลงอีก และยังกระทบต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจของประเทศที่ส่งออกน้ำมัน และต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจโลกได้
กำลังโหลดความคิดเห็น