xs
xsm
sm
md
lg

อีก 2 เดือนเปิด! ด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ เล็งให้ใช้ฟรีก่อน 5-7 วัน BEM คาดมีรถแตะแสนคัน/วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กทพ.-BEM โชว์ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ ก่อนเปิดใช้จริง คาดช่วง 20 ส.ค.นี้เปิดให้บริการ ยันงานสมบูรณ์ 100% วันที่ 31 ก.ค.นี้แน่ เตรียมจัดกิจกรรมเปิดให้สัมผัสทางด่วนใกล้ชิด และอาจมีให้ทดลองใช้ฟรีก่อน 5-7 วัน BEM คาดช่วงแรกมีรถใช้แตะแสนคัน/วัน โกยรายได้อย่างน้อย 4.85 ล้านบาท/วัน ชี้ทางขึ้น-ลงครอบคลุม เชื่อมฝั่งธนกับกรุงเทพฯ สะดวกขึ้น พร้อมเตรียมออกหุ้นกู้ 1.5 หมื่นล้านโปะหนี้ทางด่วน 4 พันล้าน รถไฟฟ้าอีก 1.1 หมื่นล้าน

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และนางพเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมเป็นประธานจัดกิจกรรมเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมทางพิเศษฯ ภายใต้กิจกรรม “ปั่นกินลม ชมทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ” ซึ่งมีกำหนดเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการช่วงวันที่ 20 ส.ค. 2559

นายณรงค์กล่าวว่า ขณะนี้ในส่วนของการก่อสร้างโครงการทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครระยะทาง 16.7 กม. ซึ่ง BEM ได้รับสัมปทานการก่อสร้างมีความคืบหน้ากว่า 98% แล้ว โดยมีกำหนดเปิดให้บริการในเดือน ส.ค. 2559 นี้ ซึ่งจากภาพรวมการก่อสร้างนั้นมีความรวดเร็วกว่าแผนซึ่งตามกำหนดเดิมมีกำหนดเปิดใช้ในช่วงปลายปี 2559 ทั้งนี้ เมื่อทางด่วนมีการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบจะช่วยส่งเสริมศักยภาพด้านคมนาคมและช่วยบรรเทาการจราจรติดขัดฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ ได้อย่างมาก

ทั้งนี้ กทพ. และ BEM อยู่ระหว่างหารือในการจัดกิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ และเชิญชวนให้ประชาชนร่วมสัมผัสทางด่วนก่อนเปิดใช้อย่างเป็นทางการ เช่น เปิดให้ประชาชนปั่นจักรยาน และวิ่งมารธอนบนทางด่วน ซึ่งจะกำหนดวันที่ชัดเจนต่อไป และก่อนเปิดใช้จริง 5-7 วันจะมีการเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้ฟรีก่อนอีกด้วย

***งานสมบูรณ์ 100% วันที่ 31 ก.ค.นี้แน่นอน

ด้านนางพเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการ BEM กล่าวว่า ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ จะสามารถอำนวยความสะดวกด้านการจราจรฝั่งตะวันตกให้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น ส่วนการก่อสร้างนั้น ถึงวันนี้ภาพรวมคืบหน้า 99% แล้ว โดยอยู่ในระหว่างการดำเนินการเก็บรายละเอียดงานโยธา งานติดตั้งระบบควบคุมทางพิเศษ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบไฟฟ้าในอาคาร ระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร และมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ ซึ่งงานจะแล้วเสร็จ 100% ในวันที่ 31 ก.ค. 2559 รวมถึงการจัดอบรมบุคลากรเพื่อเตรียมความพร้อมให้บริการในเดือน ส.ค.นี้

โดยหลังเปิดให้บริการ ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการในเดือน ส.ค. 2559 คาดว่าจะมีปริมาณจราจรในช่วงปีแรกที่เปิดประมาณ 97,000-100,000 คัน/วัน และจะเติบโตเรื่อยๆ จนเพิ่มเป็น 150,000 คัน/วัน ในปีที่ 5 หลังเปิดให้บริการ ส่วนอัตราค่าผ่านทางเป็นระบบแบบเหมาจ่าย รถยนต์ 4 ล้อ 50 บาท รถ 6-10 ล้อ 80 บาท และเกิน 10 ล้อ 115 บาท โดยจะมีการปรับขึ้น 15 บาท ทุกๆ 5 ปี ตามสัญญาสัมปทาน

ขณะที่สัญญาสัมปทานกำหนดเงื่อนไขการแบ่งรายได้ให้ กทพ.เมื่อผลตอบแทนลงทุนสูงกว่า 13.5% โดย กทพ.จะได้รับส่วนแบ่งรายได้ที่ 30% ส่วน BEM ได้รับ 70% โดยประมาณการปริมาณจราจรไว้ที่ 1.5 แสนคันต่อวัน และหากผลตอบแทนเพิ่มขึ้นสูงกว่า 15.5% กทพ.จะได้รับส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 50-50

“ทางด่วนเส้นทางจะระบายการจราจรระหว่างฝั่งกรุงเทพฯ-ธนบุรีได้เป็นอย่างดี โดยออกแบบให้มีทางขึ้น-ลงครอบคลุมตั้งแต่ถนนกาญจนาภิเษก ราชพฤกษ์ บรมราชชนนี จรัญสนิทวงศ์ รวม 4 จุด โดยตามสัญญาระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี ซึ่งจะครบในเดือน ธ.ค. 2559 แต่บริษัทฯ สามารถดำเนินการได้เร็วกว่าแผน ซึ่งการเปิดใช้ทางด่วนเร็วจะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ทั้งสนองนโยบายรัฐบาล ประชาชนได้ใช้เส้นทางเร็วขึ้น และบริษัทฯ รับรู้รายได้เร็วขึ้น” นางพเยาว์กล่าว

สำหรับแนวเส้นทางจะมีจุดเริ่มต้นที่ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครหรือถนนกาญจนาภิเษก แล้วก่อสร้างขนานไปกับทางรถไฟสายใต้ทางฝั่งด้านเหนือ จากนั้นแนวเส้นทางจะข้ามทางรถไฟมาฝั่งด้านใต้ บริเวณถนนราชพฤกษ์ แล้ววิ่งต่อไปเบี่ยงแนวมาทางด้านเหนืออีกครั้ง เพื่อหลบสถานีรถไฟฟ้าบางบำหรุ แล้วเบี่ยงกลับมาทางด้านทิศใต้ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระราม 6 สิ้นสุดโครงการบริเวณย่านบางซื่อ จะเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัช บริเวณด้านเหนือของสถานีขนส่งหมอชิต 2 ซึ่งสามารถลงสู่ระดับพื้นดินที่บริเวณถนนกำแพงเพชร 2

**คาดทั้งปี 59 ระบบทางด่วนหลักมีปริมาณจราจร 1.182 ล้านคัน/วัน

นางพเยาว์กล่าวถึงประมาณการปริมาณจราจรบนทางด่วนที่ BEM ได้รับสัญญาสัมปทานจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ในปัจจุบันถึงไตรมาส 2/2559 อยู่ที่ประมาณ 1.17 ล้านคันต่อวัน โดยคาดการณ์การเติบโตของปริมาณจราจรทั้งปี 2559 เทียบกับปี 2558 ประมาณ 2% หรือสิ้นปี 2559 ปริมาณจราจรจะอยู่ที่ 1.182 ล้านคันต่อวัน ขณะที่รายได้จะเติบโตในสัดส่วน 2% เช่นกัน

ส่วนรายได้ของ BEM ทั้งหมดในปี 2558 อยู่ที่ประมาณ 11,000 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากโครงการทางด่วนประมาณ 8,800 ล้านบาท ที่เหลือเป็นรายได้โครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล ประมาณการรายได้ทั้งปี 2559 จะเติบโตที่อัตรา 2.1%

ทั้งนี้ BEM มีสัดส่วนรายได้จากทางด่วน 75% มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 2% ต่อปี รายได้จากรถไฟฟ้าสัดส่วน 20% มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 3% ต่อปี และมีรายได้อื่นๆ 0%

และในวันที่ 6 ส.ค.นี้จะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงบางใหญ่-เตาปูน ซึ่ง BEM จะได้รับค่าจ้างวิ่งบริการและซ่อมบำรุงจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตามสัญญา เฉลี่ยที่ 1,800-2,000 ล้านบาทต่อปี โดยคาดจำนวนผู้โดยสารของสายสีม่วงช่วงแรกมีประมาณ 1.5 แสนคน/วัน

***ออกหุ้นกู้ 1.5 หมื่นล้านโปะหนี้รถไฟฟ้าเซฟดอกเบี้ย 440 ล้าน

นางพเยาว์กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 2/2559 บริษัทจะออกหุ้นกู้ 15,000 ล้านบาท โดยมีภาระจ่ายค่าก่อสร้างทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกประมาณ 4,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากมีเงินกู้เงื่อนไขดีจากแหล่งเงินญี่ปุ่น ดังนั้นจะมีการออกหุ้นกู้บางส่วนให้โครงการรถไฟฟ้าแทน โดยมีต้นทุนทางการเงินที่ 3% ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนทางการเงินของรถไฟฟ้าเดิมที่อยู่ที่ 7% ดังนั้นในปี 2560 บริษัทฯ จะประหยัดดอกเบี้ยในส่วนของรถไฟฟ้าคิดเป็นเงินประมาณ 440 ล้านบาท ซึ่งเป็นประโยชน์แก่บริษัทอย่างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น