xs
xsm
sm
md
lg

สหภาพฯกทพ.ยื่น”นายกฯ-อาคม”คัดค้าน มติบอร์ดกทพ.คดีค่าทางด่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สหภาพฯ กทพ.ฮือต้านมติบอร์ดกทพ. เดินสายยื่นหนังสือ”อัยการ-นายกฯ-รมต.อาคม”หวังให้นโยบายสั่งกทพ.ยื่นศาลปกครอง เพิ่มถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ ต่อสู้คดีรับค่าผ่านทางด่วนขั้นที่ 2 ปี 2546

รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากที่คณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา ให้ กทพ.ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เสียงข้างมาก ซึ่งได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2559 ให้ กทพ.ชดใช้ค่าเสียหายจากการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษปี 2546 ให้กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช) เนื่องจากเห็นว่าคำชี้ขาดของคระอนุญาโตตุลาการยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาทบทวนโดยศาลปกครอง และได้จัดทำหนังสือคัดค้านมติคณะกรรมการ กทพ. โดยต้องการให้กพท.ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิ่มถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ ต่อสู้คดีรับค่าผ่านทางด่วนขั้นที่ 2 ปี 2546

โดยในวันนี้ (13 พ.ค.) ในช่วงเช้า นายลาภดี กลยนีย์ ประธาน สร.กทพ. พร้อมด้วยพนักงานและลูกจ้าง กทพ.หลายร้อยคน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อสำนักงานอัยการสูงสุด โดยมี นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้รับหนังสือ และในช่วยบ่าย สร.กทพ. พร้อมด้วยสมาชิก ได้ไปยื่นหนังสือที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยมี นางมาลินี ภาวิไล นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านมวลชน รักษาราชการแทนผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน เป็นผู้รับเรื่องจากประธาน สร.กทพ. และเดินทางเดินทางไปยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมี นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือ

โดยในหนังสือคัดค้านของสหภาพฯกทพ. ระบุว่า ประเด็นที่ต้องพิจารณาทบทวนโดยศาลปกครองคือ สัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 เป็นสัญญาสัมปทานที่มีผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนส่วนรวมเกี่ยวข้องอยู่ด้วย จึงเป็นสัญญาปกครอง อีกทั้งมิใช่สัญญาทั่วไป ที่คู่สัญญาจะตกลงกันเองอย่างไรก็ได้ เพราะเป็นสัญญาที่ต้องให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการและต้องผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดด้วย ดังนั้น สัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ต้องขึ้นอยู่ภายใต้กฎหมายปกครองจะตีความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้ และเห็นวา การตีความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นการเอาเปรียบคู่สัญญาและประชาชน

นอกจากนี้การปรับอัตราค่าผ่านทางที่บริษัทปรับขึ้นทุกกรณี สหภาพฯกทพ.ไม่เห็นด้วยเพราะตามสัญญาได้กำหนดอัตราการปรับค่าผ่านทางไว้ชัดเจนแล้วและทุกครั้ง กทพ.จะพิจารณาปรับอัตราค่าผ่านทาง ตามความเห็นของอัยการสูงสุด หากบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยไม่นำสู่ศาลปกครอง จะมีผลกระทบทำให้การปรับค่าผ่านทางฝ่าฝืนข้อสัญญา กทพ.ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นธรรม และสร้างภาระให้ประชน

และที่ผ่านมาครม.เคยให้ข้อสังเกตว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวม ก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บ่งประกง มีการเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนสูงมาก สำควรนำเรื่องสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม และเมื่อปี 2547 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้นำเสนอเรื่องการดำเนินการในคดี”ทางด่วน”ให้ครม.พิจารณาเห็นชอบเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานระหว่างรัฐกับเอกชนว่า “สัญญาสัมปทานในกฎหมายปัจจุบันเป็นสัญญาทางการปกครอง จึงควรนำคดีพิพาทจากสัญญาเหล่านั้นส่งไปศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม”
กำลังโหลดความคิดเห็น