xs
xsm
sm
md
lg

“อาคม” โยน ครม.ชี้ขาดคดีค่าทางด่วนปี 46 เจรจาหรือยื่นศาลปกครอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“อาคม” เผยปัญหาข้อพิพาทค่าทางด่วนปี 46 ต้องเสนอ ครม.ตัดสิน เร่งประมวลรายละเอียดมติบอร์ด กทพ. คาดชง ครม.ได้ใน 24 พ.ค.นี้ ด้านสหภาพ กทพ.ออกแถลงการณ์ขอให้ต่อสู้ตามกระบวนการจนถึงที่สุด ชี้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลควรโปร่งใส มั่นใจการขึ้นค่าผ่านทางที่ผ่านมาดำเนินการตามสัญญาและคำนึงถึงประชาชน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) คัดค้านมติคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.ที่ให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษปี 2546 ให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช) ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้น เรื่องนี้คงต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาหาทางออก ซึ่งเท่าที่ทราบบอร์ด กทพ.มีมติแล้ว และเตรียมเสนอเรื่องมาที่กระทรวง ซึ่งเมื่อได้รับมติบอร์ด กทพ.อย่างเป็นทางการ กระทรวงจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยจะพยายามเสนอ ครม.ให้ทันการประชุมวันที่ 24 พ.ค. เพราะมีกำหนด 90 วัน หรือภายในวันที่ 1 มิ.ย. 2559 กรณีที่ กทพ.จะมีการยื่นศาลปกครอง

โดยวันนี้ (17 พ.ค.) สร.กทพ.ได้ออกแถลงการณ์เรื่องข้อพิพาทค่าผ่านทางปี 46 (ฉบับที่ 1) ระบุว่า กทพ.ตกเป็นเหยื่อคำใหญ่ โดยหลังจากอนุญาโตตุลาการมีคำตัดสินให้กทพ.เป็นฝ่ายแพ้ ต้องจ่ายเงินให้ BEM 8,100 ล้านบาทจากกรณีที่กทพ.ไม่ขึ้นค่าผ่านทางตามที่ BEM ร้องขอตามสัญญาซึ่งตีความวิธีคำนวณการขึ้นค่าผ่านทางไม่ตรงกันและเป็นปัญหาข้อพิพาทตลอดมานั้น คณะกรรมการ กทพ.มีมติให้ กทพ.เสนอ ครม.เพื่อดำเนินกาตามที่อนุญาโตตุลาการตัดสิน โดยไม่ได้ต่อสู้ในชั้นศาล (และเหมือนว่า BEM ได้ยื่นข้อเสนอทำนองมีส่วนลดให้ หาก กทพ.ชำระเสร็จสิ้นทั้งหมดภายในกรอบเวลาหรือให้ผ่อนชำระ หรือแลกกับการขยายอายุสัมปทานทางพิเศษศรีรัชอีก 9 ปี)

สร.กทพ.เห็นว่า กรณีนี้จะเป็นตัวอย่างอ้างอิงให้กับคำตัดสินข้อพิพาทอื่นในทำนองเดียวกันซึ่งจะก่อความเสียหายย่อยยับในปัจจุบันและอนาคตแก่องค์กร รัฐบาล และประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา กทพ.ตัดสินใจขึ้นค่าผ่านทางน้อยกว่าที่เอกชนขอโดยตีความสัญญาภายใต้กรอบความเห็นทางกฎหมายของส่วนราชการโดยยึดตามเหตุผล ข้อสัญญา และประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักซึ่งเอกชนเห็นต่างออกไป จึงเกิดข้อพิพาทสู่อนุญาโตตุลาการ

อย่างไรก็ตาม กระบวนการยังไม่สิ้นสุด กรณี กทพ.ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการสามารถยื่นคัดค้านต่อศาลปกครองได้ภายใน 90 วัน แต่บอร์ด กทพ.กลับมีมติให้เสนอ ครม.เพื่อขอให้ กทพ.ดำเนินการตามคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ พนักงานจึงกังขา

ทั้งนี้ สร.กทพ.เห็นว่า กทพ.ควรต่อสู้ตามกระบวนการจนถึงที่สุด เพราะการจ่ายเงินใดๆ จำนวนมหาศาลจากองค์กรของรัฐควรโปร่งใส และเชื่อว่าการขึ้นค่าผ่านทางที่ผ่านมา กทพ.ได้ดำเนินการตามสัญญาคำนึงถึงประโยชน์ประชาชนไม่คำนึงถึงผลกำไร การยอมโดยง่ายและการขึ้นค่าผ่านทางในอนาคตจะตกเป็นภาระประชาชนโดยไม่เป็นธรรม ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นภัยร้ายแรงต่อความเชื่อมั่นและความยั่งยืนขององค์กร สร.กทพ.และพนักงานจึงจำเป็นต้องออกมาคัดค้านมติบอร์ด
กำลังโหลดความคิดเห็น