xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด กทพ.ยันไม่สู้คดีทางด่วน เร่งชง ครม.ขยายสัมปทาน BEM ชดเชย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บอร์ด กทพ.มีมติไม่ยื่นศาลปกครองต่อสู้คดีปรับค่าทางด่วนปี 46 หลังอนุญาโตฯ ชี้ขาด สั่ง กทพ.จ่ายชดเชย BEM กว่า 8 พันล้าน ระบุเจรจาต่อรอง พร้อมเคลียร์ข้อคดีค่าผ่านทางที่เหลือในคราวเดียวยุติแบบเบ็ดเสร็จ หวั่นกระทบการเงินและพนักงาน สบช่องขยายสัมปทานแทนจ่ายเงิน เสนอคมนาคมเร่งชง ครม.ตัดสิน ด้านสหภาพฯ กทพ.รวมตัวยื่นหนังสือ “นายกฯ” วันนี้

พล.อ.สุชาติ วิวรรธน์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด กทพ. เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาคดีค่าผ่านทางด่วน ปี 2546 กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ หลังคณะกรรมการพิจารณาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ กระทรวงการคลัง และสำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ สำนักงานอัยการสูงสุด ให้ความเห็นว่า กทพ.ไม่มีเหตุที่จะไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ อีกทั้งไม่สามารถเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวได้

ดังนั้น เมื่อทั้ง 2 หน่วยงานที่ กทพ.ได้สอบถามไปนั้นระบุความเห็นมาแล้วดังกล่าว บอร์ด กทพ.จึงมีมติเห็นว่า กทพ.ไม่มีเหตุที่ฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อต่อสู้คดีต่อไป เว้นแต่มีข้อมูลใหม่มาเสนอจึงจะฟ้องศาลปกครอง ซึ่งที่ผ่านมากว่า 10 ปีคดีข้อพิพาทระหว่าง กทพ. กับ BEM ไม่น่าจะมีข้อมูลใหม่ ทั้งนี้ หากมีตามขั้นตอนจะต้องเร่งเสนอเข้ามาก่อนที่จะส่งเรื่องต่อไปที่กระทรวงคมนาคม โดยบอร์ดได้เร่งรัดให้ กทพ.สรุปรายละเอียดและเสนอคมนาคมภายในวันนี้ (13 พ.ค.) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบแนวทางตามมติบอร์ดที่จะไม่ยื่นฟ้องศาลปกครอง และเสนอมาตรการลดผลกระทบต่อ กทพ.ในอนาคตภายในวันที่ 17 พ.ค. อย่างไรก็ตาม หาก ครม.พิจารณาแล้วมีมติให้สู้คดี กทพ.จะต้องปฏิบัติตาม

สำหรับมาตรการลดผลกระทบต่อ กทพ.นั้น ผลการเจรจาของคณะผู้แทน กทพ.ที่มี พล.อ.อ.ยุทธนา สุกุมลจันทร์ บอร์ด กทพ.เป็นประธาน สรุปว่า ทาง BEM ยอมลดจำนวนเงินค่าชดเชย จากที่ยื่นฟ้อง กทพ.ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการกว่า 8 พันล้านบาทลงแม้ไม่ถึงครึ่งแต่ถือว่าค่อนข้างมาก ส่วนจะเป็นจำนวนเงินเท่าไรนั้นยังเปิดเผยตัวเลขไม่ได้ โดยการเจรจาได้มีการพิจารณาจำนวนเงินที่เกิดจากส่วนต่างการปรับค่าผ่านทางซึ่งเป็นผลสืบเนื่องตั้งแต่ปี 2546 ปี 2551 ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ และปี 2556 ที่ผ่านมารวมกันทั้งหมดเพื่อหาข้อยุติในคราวเดียว และไม่ให้เกิดปัญหาอีกในอนาคต

โดยตามสัญญา ก่อนสิ้นสุดสัมปทานปี 2563 จะมีการปรับค่าผ่านทางอีกเป็นครั้งสุดท้ายในปี 2561 ซึ่งการยุติปัญหาโดย กทพ.ไม่ฟ้องคดีนั้นยอมรับว่าจะส่งผลกระทบต่อ กทพ. และพนักงาน เนื่องจากตัวเลขค่าชดเชยเป็นเงินจำนวนมาก หากจ่ายเพียงครั้งเดียวบัญชีของ กทพ.จะติดลบ ดังนั้นจะต้องหาแนวทางที่ให้มีผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงไม่ทำให้ประชาชนที่ใช้บริการทางด่วนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งในการเจรจามีการเสนอให้ขยายสัญญาสัมปทานระบบทางด่วนขั้นที่ 2 กับ BEM แทนเพื่อลดผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม กรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กทพ.เสนอให้สู้คดี โดยยึดแนวทางคดีค่าทางด่วนปี 2541 และคดีค่าโง่ทางด่วนสายบางนา 6,200 ล้านบาท ที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ กทพ.แพ้ แต่เมื่อยื่นศาลปกครองตัดสินให้ กทพ.เป็นฝ่ายชนะนั้น ต้องพิจารณาเนื้อหาสาระให้ดีว่าชนะเพราะเนื้อหาสาระ หรือชนะเพราะมีประเด็นอื่น โดยคดีค่าทางด่วน ปี 2541 ตัดสินว่าการตั้งคณะอนุญาโตตุลาการ 2 ชุดไม่ได้ส่วนค่าโง่ทางด่วนบางนา เพราะการทำสัญญาฉ้อฉล สัญญาจึงเป็นโมฆะ

***สหภาพฯ กทพ. นัดยื่นหนังสือ “นายกฯ” วันนี้

ด้านนายลาภดี กลยนีย์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) พร้อมด้วยพนักงานลูกจ้างประมาณ 100 คน ได้ยื่นหนังสือต่อ พล.อ.สุชาติ วิวรรธน์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. ก่อนการประชุมบอร์ด กทพ. เพื่อให้พิจารณาต่อสู้คดีและการจ่ายเงินชดเชย BEM แล้ว โดยภายหลังบอร์ดมีมติดังกล่าว สหภาพฯ กทพ.ได้นัดรวมตัวกันเพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 พ.ค. เวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล


กำลังโหลดความคิดเห็น