xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.เล็งเปิดสัญญายาว 50 ปี พัฒนาที่ดิน “กม.11-แม่น้ำ” หวังจูงใจเอกชนลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
บอร์ด ร.ฟ.ท.สั่งที่ปรึกษาทำข้อมูลพัฒนาที่ดิน 2 แปลงใหญ่ “บริเวณ กม.11 และสถานีแม่น้ำ” เพิ่มเติม เล็งให้สัญญาระยะยาว 50 ปีเพื่อจูงใจเอกชน ระบุเอกชนต้องจ่ายค่าจัดประโยชน์ในพื้นที่สูง ต้องมองที่ผลตอบแทน หากสั้นแค่ 30 ปีอาจไม่คุ้ม “วุฒิชาติ” เผย กม.แพ่งและพาณิชย์เปิดช่องทำได้ เตรียมชงคมนาคมเสนอ กก.PPP ตัดสินใจ ลุยพลิกที่ดินทำเลทองเพิ่มรายได้

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาที่ดิน 2 แปลงใหญ่ คือบริเวณ กม.11 และบริเวณสถานีแม่น้ำย่านคลองเตย ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ได้รับทราบผลการศึกษาและรายละเอียดตามข้อกำหนดของการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน หรือ Public Private Partnerships (PPP) ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56) แล้ว โดยที่ประชุมยังติดใจตัวเลขบางเรื่อง จึงให้บริษัทที่ปรึกษากลับไปจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนสรุปเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเข้ากระบวนการ PPP ต่อไป

ทั้งนี้ บอร์ดเห็นว่าการวิเคราะห์ฐานตัวเลขระยะเวลาสัมปทานกับผลตอบแทนควรมีการทบทวนเพิ่มเติม โดยพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น การกำหนดระยะเวลาสัญญา 30 ปี (ก่อสร้าง 4 ปี + สัญญาสัมปทาน 30 ปี) ตามระเบียบทั่วไป เปรียบเทียบกับมูลค่าการลงทุนค่อนข้างสูงหลายหมื่นล้านบาทหรือถึงแสนล้านบาทนั้น อาจจะไม่จูงใจผู้ลงทุนมากพอหรือไม่ เพราะเท่าที่พบกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เปิดช่องให้ทำสัญญาได้ไม่เกิน 50 ปี หรือก่อสร้าง 4+สัญญาสัมปทาน 46 ปี ซึ่งอาจจะทำให้จูงใจมากขึ้น จึงให้ที่ปรึกษาทำข้อมูลกรณีให้ระยะเวลาสัญญา 50 ปีเพิ่มเติม นอกจากนี้ ให้ศึกษาการพัฒนาที่ดินตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพิ่มเติม ในเรื่องฐานตัวเลขรายได้ของรถไฟที่จะมาจากค่าเช่าพื้นที่อย่างเดียวเท่านั้นหรือไม่ สามารถหารายได้จากอย่างอื่นได้อีก

“บอร์ด ร.ฟ.ท.เห็นว่ายังสามารถปรับได้อีก เพื่อให้จูงใจและเป็นไปได้เมื่อเปิดเชิญชวนเอกชนมาลงทุน เช่น สัมปทาน 30 ปี อาจจะน้อยไปเมื่อเทียบกับการลงทุนเป็นแสนล้าน ผู้แทนบอร์ด มีทั้งจากคลังและนักกฎหมาย มีความละเอียดรอบคอบเรื่องตัวเลข ดังนั้นจึงต้องการตัวเลขที่มีความชัดเจนและเป็นไปได้ ที่ปรึกษาต้องไปทำเพิ่มเติม โดยพิจารณามูลค่าลงทุน ผลตอบแทน และยึดข้อกฎหมายเป็นหลัก รวมถึงมองไปถึงอนาคตเมื่อหมดสัญญาแล้วต้องคืนให้ ร.ฟ.ท. การบริหารหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร” นายวุฒิชาติกล่าว

สำหรับที่ดินบริเวณ กม.11 ตั้งอยู่ด้านหลังอาคารศูนย์พลังงานแห่งชาติ (เอ็นเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์) เนื้อที่ 359 ไร่ มูลค่าประมาณ 1.83 หมื่นล้านบาท และบริเวณสถานีแม่น้ำย่านคลองเตย เนื้อที่ประมาณ 260 ไร่ มูลค่าราว 1.04 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าที่ปรึกษาจะวิเคราะห์รายละเอียดเพิ่มเติมตามความเห็นของบอร์ด ร.ฟ.ท.แล้วเสร็จภายใน 1-2 สัปดาห์ จากนั้นจะเสนอไปกระทรวงคมนาคมได้ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ PPP จะเป็นผู้พิจารณาผลการศึกษาและเลือกแนวทาง ระยะเวลาสัญญาที่เหมาะสม
กำลังโหลดความคิดเห็น