สนข.เคาะผลศึกษาพัฒนารถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ 189 กม. เลือกแนวเส้นทางที่ 4 วงเงินลงทุนกว่า 6 หมื่นล้าน ใช้พื้นที่ขนานกับทางรถไฟเดิมผ่าน 30 ตำบล 10 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่, ลำพูน, ลำปาง, เชียงใหม่ รวม 18 สถานี เชื่อมโยงโครงข่ายสายเหนือให้สมบูรณ์ ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า คาดสรุปเสนอ สศช.และ ครม.เร็วๆ นี้
วันที่ 25 พ.ค. สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 (สรุปผลการศึกษาโครงการ) โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ โดยนายสุชัย รอยวิรัตน์ ผู้จัดการโครงการ ได้นำเสนอสรุปผลการศึกษา โดยมีแนวทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด คือ แนวเส้นทางเลือกที่ 4 ซึ่งจากการสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 มีผู้ให้ความเห็นสนับสนุนถึงร้อยละ 86.53 โดยเป็นการสร้างทางรถไฟขนาด 1 เมตร (Meter Gauge) ใหม่ 1 ทางขนานกับทางรถไฟเดิม แนวเส้นทางโครงการ จะผ่าน 30 ตำบล 10 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง และ จังหวัดเชียงใหม่ โดยช่วงสถานีรถไฟเด่นชัย ถึง สถานีรถไฟห้างฉัตรจะใช้แนวเส้นทางเดิมเป็นหลัก แต่จะมีการปรับแนวเส้นทางใหม่บางส่วน ช่วงสถานีรถไฟห้างฉัตร ถึงสถานีรถไฟลำพูน จะเป็นการก่อสร้างแนวรถไฟใหม่ทั้งหมด และช่วงสถานีรถไฟลำพูนถึงสถานีรถไฟเชียงใหม่ จะเป็นการสร้างทางใหม่ขนานกับแนวเส้นทางรถไฟเดิม มีระยะทางรวม 189 กิโลเมตร เป็นทางรถไฟระดับพื้น 103 กิโลเมตรทางยกระดับ (Viaduct) 44 กิโลเมตร และสะพานบก (Short Span Bridge) 25 กิโลเมตร
มีสถานีหลักตามแนวเส้นทาง 18 สถานี ได้แก่ ปากปาน แก่งหลวง ห้วยแม่ต้า บ้านปิน ผาคัน ปางป๋วย แม่จาง แม่เมาะ ศาลาผาลาด แม่ทะ หนองวัวเฒ่า นครลำปาง ห้างฉัตร ศาลาแม่ทา ลำพูน ป่าเส้า สารภี และ เชียงใหม่ โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) ที่ อำเภอสารภี และศูนย์ขนส่งสินค้า (CY) 2 แห่ง คือ พื้นที่ต่อเนื่องกับศูนย์ซ่อมบำรุงและที่ อำเภอห้างฉัตร รวมทั้งมีแก้ไขจุดตัดทางรถไฟจำนวน 119 จุด โดยไม่รวมจุดตัดที่กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทดำเนินการ ทั้งมีการออกแบบจะเป็นไปตามมาตรฐานของ American Railway Engineering and maintenance – of – Way Association (AREMA) และการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นหลัก
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 61,068 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 60,312 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 756 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) เท่ากับร้อยละ 12.06 มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 291 ล้านบาท และอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C Ratio) เท่ากับร้อยละ 1.01 มูลค่าผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจทางตรงทั้งหมด 4,298.39 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จ คาดว่าในปี พ.ศ.2565 จะมีผู้ใช้บริการประมาณ 3,963,535 คน-เที่ยว/ปี ขนส่งสินค้า จำนวน 0.91 ล้านตัน/ปี
เนื่องจากแนวเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่จะพาดผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล จังหวัดลำปาง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จังหวัดลำพูน จึงออกแบบโครงสร้างทางรถไฟเป็นอุโมงค์เดี่ยวทางคู่ บริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล ความยาว 3.91 กิโลเมตร และบริเวณพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง ความยาว 1.06 กิโลเมตร เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ รวมทั้งจะมีการปลูกป่าชดเชยพื้นที่ป่าไม้ที่สูญเสียไป นอกจากนี้ยังออกแบบทางรถไฟเป็นทางรถไฟยกระดับ บริเวณพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง ความยาว 1.2 กิโลเมตร เพื่อลดผลกระทบต่อการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้และการดำรงชีวิตสัตว์ป่า รวมถึงลดปัญหา ด้านเวนคืนที่ดิน มีการพิจารณาจ่ายค่าชดเชยการเวนคืนอย่างยุติธรรม โดยยึดหลักตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และคู่มือการกำหนดเงินค่าทดแทนฯ ของกระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2556
โดยจังหวัดลำปางมีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ และเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าของภาคเหนือ นอกจากนี้ ยังเป็นจังหวัดที่มีการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และมีแนวโน้มว่าจะมีนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาในจังหวัด เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเชื่อมต่อโครงข่ายระบบรางด้วยรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ จะเพิ่มประสิทธิภาพการบริการขนส่งทางรางให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ลดต้นทุนการขนส่งสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการ กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดอีกด้วย
ก่อนหน้านี้ได้มีการจัดสัมมนาแล้วที่จังหวัดแพร่ มีผู้มาร่วมงานกว่า 200 คน โดยนายสุชัย รอยวิรัตน์ ได้นำเสนอข้อมูลช่วงที่โครงการผ่านจังหวัดแพร่ว่าจะมีแนวเส้นทางพาดผ่านพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 3 แห่ง และผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร จึงมีมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น ด้านทรัพยากรป่าไม้ มีการออกแบบโครงสร้างทางรถไฟช่วงที่ผ่านพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุโมงค์เดี่ยวทางคู่ เพื่อลดผลกระทบต่อการทำลายป่าและพื้นที่ต้นน้ำ ส่วนป่าไม้ที่สูญเสียมีแผนจะปลูกป่าชดเชยตามหลักเกณฑ์ที่กรมป่าไม้กำหนด ด้านการออกแบบทาง สำหรับทางระดับดิน จะมีการตัดต้นไม้เฉพาะบริเวณเขตการก่อสร้างที่จำเป็นเท่านั้น ส่วนทางยกระดับจะดำเนินการตัดต้นไม้เฉพาะส่วนที่ก่อสร้างฐานราก และ Access Road เพื่อเข้าไปยังพื้นที่ก่อสร้าง หากโครงการรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่แล้วเสร็จจะเป็นการเปิดประตูการค้าภาคเหนือ ส่งผลให้จังหวัดแพร่ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภาคเหนือตอนบนตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีการสัมมนาอีก 1 ครั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 26 พ.ค. หลังจากนั้น สนข.จะสรุปผลการศึกษาเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และกระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป