“กรมทางหลวง” เตรียมสรุปผลศึกษาออกแบบต่อขยาย “ดอนเมืองโทลล์เวย์” จากโรงโรงกษาปณ์-ประตูน้ำพระอินทร์ 18 กม. ลงทุนกว่า 3.05 หมื่นล้าน คาดตอกเข็มก่อสร้างปี 62 แล้วเสร็จปี 66 วางตอม่อเกาะกลางพหลโยธิน ลดผลกระทบเวนคืน แค่ 8 ไร่
เมื่อวันที่ 25 เม.ย. กรมทางหลวง (ทล.) ได้จัดสัมมนาสรุปผลการศึกษา โครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสำรวจออกแบบรายละเอียด ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอิน โดยเปิดรับฟังคิดเห็นและข้อเสนอแนะจาก หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนตัวแทนภาคประชาชนที่เข้าร่วมประมาณ 200 คน โดยมีนายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธาน
จากการศึกษาออกแบบจุดเริ่มต้นโครงการ ที่บริเวณจุดสิ้นสุดของทางยกระดับอุตราภิมุขในปัจจุบัน (ประมาณ กม. 33+942 ของถนนพหลโยธิน) สิ้นสุดโครงการ ประมาณ กม.51+924 ของถนนพหลโยธิน บริเวณแยกต่างระดับบางปะอิน ซึ่งเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชีย (AH1) ระยะทางประมาณ 18 กม. ก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 3 ช่องจราจรต่อทิศทาง ความกว้างของช่องจราจร 3.50 เมตร พร้อมไหล่ทางด้านซ้ายกว้าง 2.00 เมตรและไหล่ทางด้านขวากว้าง 1.00 เมตร ความกว้างรวม 28.55 เมตรมีจุดขึ้น-ลง 7 จุด ได้แก่ บริเวณด่านโรงกษาปณ์, ด่านคลองหลวง, ด่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ด่านนวนคร, ด่านมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์, ด่านประตูน้ำพระอินทร์ และด่านบางปะอิน
โดยประเมินค่าลงทุนอยู่ที่ประมาณ 30,538 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 30,030 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 197 ล้านบาท (เวนคืนพื้นที่จำนวน 8 ไร่ ที่ดินประมาณ 9 แปลง) ค่าติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม 311 ล้านบาท ซึ่งพบว่าโครงการมีความคุ้มทุน โดยมีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) 18.2% มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 15,531 ล้านบาท และอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C Ratio) เท่ากับ 1.98
โดยหลังสรุปการศึกษาจะเสนอรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ (EIA) ขออนุมัติ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการเวนคืนและชดเชย ก่อนที่จะนำไปสู่ขั้นตอนการก่อสร้าง โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ปี 2562 แล้วเสร็จ 2566 สามารถรองรับปริมาณการจราจรได้ถึง 88,300 คัน/วัน และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 146,100 คัน/วัน ในปี 2582 ซึ่งจะช่วยเพิ่มโครงข่ายถนนสายหลักภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ตลอดจนการเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ลดระยะเวลาการเดินทางและลดต้นทุนการขนส่ง
อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่เข้าร่วมได้แสดงความเป็นห่วงสภาพการจราจรบนถนนพหลโยธินระหว่างการก่อสร้าง และการกำหนดจุดขึ้นลงเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณการจราจร และเสนอให้มีการก่อสร้างสะพานกลับรถเพิ่มเติมซึ่งที่ปรึกษารับความเห็นไปเสนอกรมทางหลวงเพื่อพิจารณาปรับตามความเหมาะสม
โดยโครงการยังรองรับแผนการพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษบางปะอิน-นครราชสีมา และการเชื่อมต่อถนนกาญจนาภิเษก หรือวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกกับด้านตะวันออกในอนาคต