เอเอฟพี - ทีมกู้ภัยหลายร้อยคนในอินเดียยังเดินหน้าให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่ติดอยู่ใต้ซากหักพังแม้เข้าสู่ช่วงค่ำ ตามหลังเกิดเหตุทางยกระดับพังถล่มลงมาใส่ถนนพลุกพล่านสายหนึ่งที่อยู่เบื้องล่างในวันพฤหัสบดี (31 มี.ค.) ด้วยยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดเพิ่มเป็นอย่างน้อย 20 ศพ และบาดเจ็บเกือบ 100 คน เผยทางยกระดับแห่งนี้ก่อสร้างมานานกว่า 7 ปีแต่ยังไม่แล้วเสร็จ ทั้งที่มีระยะทางแค่ 2 กิโลเมตร
สะพานแห่งนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างในตอนที่ท่อนหนึ่งของมัน ซึ่งมีความยาวราวๆ 100 เมตรเกิดพังครืนลงสู่ท้องถนนที่เต็มไปด้วยผู้คนในเมืองโกลกาตา ทางตะวันออกของอินเดีย ณ เวลาประมาณเที่ยงวัน ฝังคนเดินถนน รถยนต์ และยานพาหนะอื่นๆ ที่สัญจรผ่านไปมาให้ติดอยู่ใต้ซากเหล็กและแผ่นคอนกรีตขนาดใหญ่
“จนถึงตอนนี้ยืนยันมีผู้เสียชีวิต 20 ราย แต่ยอดที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้เนื่องจากมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก” จาเวด อาห์เมด คาน รัฐมนตรีบริหารจัดการภัยพิบัติของรัฐเบงกอลตะวันตกบอกกับเอเอฟพี
ส่วนอานิล ชีคาวัต โฆษกของกองกำลังตอบสนองภัยพิบัติแห่งชาติ ระบุว่า ตัวเลขผู้ได้รับบาดเจ็บอยู่ที่ 92 โดยส่วนมากมีอาการแตกหักต่างๆ นานาและอยู่ในภาวะวิกฤต พร้อมคาดหมายเช่นกันว่ายอดผู้เสียชีวิตจะสูงกว่านี้ ขณะที่ยังไม่ทราบจำนวนของผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากหักพัง
ทีมกู้ภัยที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษ พร้อมกับอุปกรณ์ตัดคอนกรีตและเหล็ก เครื่องเจาะ เซ็นเซอร์ค้นหาสิ่งมีชีวิตและสุนัขดมกลิ่นถูกส่งมายังจุดเกิดเหตุ ด้วยโฆษกของสำนักงานบริหารจัดการภัยพิบัติแห่งชาติบอกกับเอเอฟพีว่าคณะกู้ภัยหลายร้อยคนจะทำงานตลอดทั้งคืนเพื่อช่วยเหลือเหยื่อที่ติดอยู่ใต้ซากคอนกรีต “เจ้าหน้าที่จากสำนักงานบริหารจัดการภัยพิบัติ 300 คน ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอินเดียอีก 300 คน กำลังให้ความช่วยเหลือ”
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าจำนวนมากของพวกที่เข้ามามีส่วนร่วมในความพยายามกู้ภัยดูเหมือนจะเป็นชาวบ้านทั่วไป ที่พบเห็นคนเหล่านี้พยายามช่วยกันดึงแผ่นคอนกรีตออกด้วยมือเปล่า ขณะที่เจ้าหน้าที่ประสบปัญหาในการทำเครนและเครื่องมือขนาดใหญ่อื่นๆ ฝ่าถนนแคบๆ ของย่านบูราบาซาร์ ท่ามกลางญาติๆ ที่เฝ้ารอฟังข่าวเกี่ยวกับบุคคลอันเป็นที่รักด้วยความสิ้นหวัง
พบเห็นเครนกำลังยกรถยนต์คันหนึ่งที่อยู่ในสภาพพังบู้บี้ออกจากซากปูน และยังเห็นส่วนหนึ่งของรถบัสที่ถูกทับโผล่ออกมาจากคอนกรีต แต่ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าตอนที่เกิดเหตุมันบรรทุกผู้โดยสารมาด้วยหรือไม่
หนึ่งในคนงานก่อสร้างที่ได้รับบาดเจ็บให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีจากจุดเกิดเหตุว่า เขากำลังทำงานอยู่ด้านบนก่อนที่มันพังถล่มลงมาและพบเห็นสลักหลายตัวกระเด็นออกจากคานเหล็ก “เรากำลังเชื่อมคานเหล็ก 2 อันสำหรับเสาค้ำ แต่คานไม่สามารถรับน้ำหนักของปูนซีเมนต์ได้” เขากล่าวก่อนถูกพาตัวไปโรงพยาบาล “พอสลักกระเด็นออกมา ทางยกระดับก็พังครืน”
งานก่อสร้างทางยกระดับความยาว 2 กิโลเมตรเริ่มขึ้นในปี 2009 และคาดหมายว่าจะแล้วเสร็จภายในเวลา 18 เดือน ทว่ามันต้องประสบปัญหาหยุดนิ่งหลายต่อหลายรอบ
IVRCL บริษัทก่อสร้างสัญชาติอินเดีย ที่ได้รับสัญญาในการก่อสร้างทางยกระดับแห่งนี้ มีเส้นตายที่ต้องดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 18 เดือน ภายใต้งบประมาณเกือบ 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่หลังจากผ่านไป 7 ปีปรากฏว่างานมีความคืบหน้าแค่ 55 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในปี 2014 ทางบริษัทเคยเขียนหนังสือถึงหน่วยงานพัฒนาของเมือง โดยแจ้งว่าพวกเขาไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะดำเนินโครงการให้เสร็จสมบูรณ์
ทั้งนี้ นาย เค.พี.เรา ตัวแทนของบริษัท IVRCL ระบุว่าโศกนาฏกรรมครั้งนี้เป็น “เหตุสุดวิสัย”
โศกนาฏกรรมคราวนี้ถือเป็นอุบัติเหตุเกี่ยวกับการก่อสร้างหนล่าสุดจากหลายต่อหลายครั้งที่เกิดขึ้นในอินเดีย ประเทศที่การบังคับใช้กฎระเบียบด้านความปลอดภัยอ่อนแอ และบ่อยครั้งใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน