xs
xsm
sm
md
lg

สนข.จัดเวทีสรุปผลศึกษาออกแบบรถไฟทางคู่ “เด่นชัย–เชียงใหม่” จ่อชง ครม.อนุมัติสร้าง 6.1 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สนข.จัดเวทีนำเสนอผลสรุปโครงการศึกษาและออกแบบรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย–เชียงใหม่ พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ฟังธงทางเลือกเหมาะสมเป็นทางรถไฟขนาด 1 เมตร ขนานแนวเส้นทางรถไฟที่มีอยู่เดิมเป็นหลักระยะทาง 189 กิโลเมตร ใช้งบประมาณลงทุน 6.1 หมื่นล้านบาท เตรียมชงเรื่องเบ็ดเสร็จให้ ครม.พิจารณา หากเป็นไปตามแผนงานคาดสร้างเสร็จพร้อมใช้ปี 2565 รองรับผู้โดยสาร 4 ล้านคน และขนส่งสินค้าเฉียด 1 ล้านตันต่อปี เชื่อมโยงระบบรางประเทศเพื่อนบ้าน

วันนี้ (26 พ.ค. 59) นายมงคล สุกใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 (สรุปผลการศึกษาโครงการ) โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม จัดขึ้นเพื่อนำเสนอผลสรุปการศึกษาโครงการ ผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมทั้งด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน

จากนั้นจะมีการสรุปผลการศึกษาเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และกระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี เพื่อผ่านความเห็นชอบของ คณะรัฐมนตรีต่อไป โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูนเข้าร่วมจำนวนมาก ที่โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้ นายสุชัย รอยวิรัตน์ ผู้จัดการโครงการศึกษาและออกแบบรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการศึกษาตามโครงการนี้ที่มีการศึกษาความเหมาะสมในทุกด้าน มีผลสรุปเกี่ยวกับแนวทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด คือ แนวเส้นทางเลือกที่ 4 ซึ่งจากการสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 มีผู้ให้ความเห็นสนับสนุนถึงร้อยละ 86.53 โดยเป็นการสร้างทางรถไฟขนาด 1 เมตร (Meter Gauge) ใหม่ 1 ทางขนานกับทางรถไฟเดิม แนวเส้นทางโครงการจะผ่าน 30 ตำบล 10 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง และจังหวัดเชียงใหม่

โดยช่วงสถานีรถไฟเด่นชัย ถึงสถานีรถไฟห้างฉัตรจะใช้แนวเส้นทางเดิมเป็นหลัก แต่จะมีการปรับแนวเส้นทางใหม่บางส่วนช่วงสถานีรถไฟห้างฉัตร ถึงสถานีรถไฟลำพูน จะเป็นการก่อสร้างแนวรถไฟใหม่ทั้งหมด และช่วงสถานีรถไฟลำพูนถึงสถานีรถไฟเชียงใหม่ จะเป็นการสร้างทางคู่ขนานกับแนวเส้นทางรถไฟเดิม มีระยะทางรวม 189 กิโลเมตร เป็นทางรถไฟระดับพื้น 103 กิโลเมตร, ทางยกระดับ (Viaduct) 44 กิโลเมตร และสะพานบก (Short Span Bridge) 25 กิโลเมตร

ขณะที่สถานีหลักตามแนวเส้นทางมี 18 สถานี ได้แก่ ปากปาน, แก่งหลวง, ห้วยแม่ต้า, บ้านปิน, ผาคัน, ปางป๋วย, แม่จาง,แม่เมาะ, ศาลาผาลาด, แม่ทะ, หนองวัวเฒ่า, นครลำปาง, ห้างฉัตร, ศาลาแม่ทา, ลำพูน, ป่าเส้า, สารภี และเชียงใหม่ โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) ที่อำเภอสารภี และศูนย์ขนส่งสินค้า (CY) 2 แห่ง คือ พื้นที่ต่อเนื่องกับศูนย์ซ่อมบำรุง และที่อำเภอห้างฉัตร รวมทั้งมีการแก้ไขจุดตัดทางรถไฟจำนวน 119 จุด ที่ไม่รวมจุดตัดที่กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทดำเนินการ ซึ่งการออกแบบจะเป็นไปตามมาตรฐานของ American Railway Engineering and maintenance - of - Way Association (AREMA) และการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นหลัก

ส่วนผลจากการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจนั้น เบื้องต้นพบว่ามีมูลค่าการลงทุนประมาณ 61,068 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 60,312 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 756 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) เท่ากับร้อยละ 12.06 มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 291 ล้านบาท และอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C Ratio) เท่ากับร้อยละ 1.01 มูลค่าผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจทางตรงทั้งหมด 4,298.39 ล้านบาท ทั้งนี้เมื่อโครงการแล้วเสร็จ ซึ่งตามแผนคาดว่าจะเป็นในปี พ.ศ. 2565 จะมีผู้ใช้บริการประมาณ 3,963,535 คน-เที่ยว/ปี ขนส่งสินค้าจำนวน 0.91 ล้านตัน/ปี

สำหรับจังหวัดเชียงใหม่นั้นเป็นหัวเมืองหลักที่สำคัญของภาคเหนือ เป็นศูนย์รวมทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว มีเส้นทางการคมนาคมขนส่งที่หนาแน่น ดังนั้นในการก่อสร้างแนวเส้นทางรถไฟต้องตัดผ่านถนนโครงข่ายหลายเส้นทาง จึงออกแบบจุดตัดทางรถไฟให้เหมาะสมกับการคมนาคมที่มีอยู่เดิม โดยให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

เช่น จุดตัดบริเวณตำบลยางเนิ้ง อำเภอสารภี ได้ออกแบบแก้ปัญหาเป็น U-Turn Box Culvert ซึ่งชุมชนสามารถข้ามทางรถไฟนี้ได้ด้วย ในส่วนการจ่ายค่าชดเชยการเวนคืนที่ดิน ยึดหลักตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และคู่มือการกำหนดเงินค่าทดแทนฯ ของกระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2556

นอกจากนี้ นายสุชัยระบุว่า หากการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ แล้วเสร็จตามแผนที่ สนข.ได้ศึกษาไว้ จะเพิ่มประสิทธิภาพการบริการขนส่งทางรางให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ลดต้นทุนการขนส่งสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการ ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เกิดการจ้างงาน และการกระจายรายได้ในท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะสร้างความสุขให้ประชาชน และเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น

รวมถึงเป็นการพัฒนาที่ดินและย่านพาณิชยกรรมในบริเวณโดยรอบสถานีรถไฟอีกด้วย ที่สำคัญ จะมีการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบรางไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นการกระตุ้นการธุรกิจท่องเที่ยวในภาคเหนือ และส่งผลให้เชียงใหม่ก้าวสู่การเป็นผู้นำและศูนย์กลางการท่องเที่ยวของประเทศแถบอาเซียนในอนาคตด้วย












กำลังโหลดความคิดเห็น