xs
xsm
sm
md
lg

โคราชเร่งหาทางออกสร้าง “มอเตอร์เวย์” 8 หมื่นล้าน ยันช่วง “ปากช่อง” ยกคร่อม “ถ.มิตรภาพ” ไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน- นครราชสีมาที่ห้องประชุมมูลนิธิท้าวสุรนารี ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา วันนี้ ( 15 มี.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชเร่งหาทางออกผลกระทบสร้าง “มอเตอร์เวย์ บางปะอิน - โคราช”กว่า 8 หมื่นล้าน เรียกถก กก. เร่งแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎร อ.ปากช่อง หลังบุกยื่นนายกฯ กรมทางหลวงยันยกถนนคร่อม ถ.มิตรภาพ ช่วง อ.ปากช่อง ตามข้อเรียกร้องเป็นไปไม่ได้ แต่ปรับแก้สถานีบริการและรูปแบบทางแยกต่างระดับใหม่ให้แทน พร้อมทำ EIA ซ้ำจุดที่มีปัญหา เตรียมยกคณะลงพื้นที่แจงชาวบ้านให้โครงการเดินหน้าได้

วันนี้ (15 มี.ค.) ที่ห้องประชุมมูลนิธิท้าวสุรนารี ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ได้มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน - นครราชสีมา โดยมี นายอดุลย์ เชาว์วาทิน ผู้อำนวยการทางหลวงที่ 10 นครราชสีมา ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม ซึ่งมีคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งฝ่ายทหารจาก มณฑลทหารบกที่ 21 (มทบ. 21), กองทัพภาคที่ 2 (ทภ.2), การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, แขวงการทางหลวงนครราชสีมาที่ 2, เจ้าหน้าที่ตำรวจ และฝ่ายปกครอง แต่ไม่มีกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้แต่อย่างใด

โดยที่ประชุมได้หารือกันถึงประเด็นที่กลุ่มราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน - นครราชสีมา จากพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้มีการการยกระดับมอเตอร์เวย์ คร่อมบนถนนมิตรภาพ, การจ่ายค่าเวนคืนที่ดินที่ไม่สะท้อนราคาที่แท้จริง, การทำประชาพิจารณ์ไม่ครอบคลุม, การออกแบบสร้างทางของกรมทางหลวงใช้ข้อมูลเก่ามากกว่า 10 ปี, ชาวบ้านที่ถูกเวนคืนที่ดินไม่สามารถไปหาซื้อที่ดินแปลงใหม่ได้ เพราะราคาตลาดสูงกว่าค่าทดแทนจากการเวนคืน เป็นต้น

นายเสน่ห์ นิ่งใจเย็น ผู้อำนวยการสำนักจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้ชี้แจงรายละเอียดของโครงการดังกล่าว ว่า โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน - นครราชสีมา มีระยะทาง 196 กิโลเมตร (กม.) เริ่มต้นที่บริเวณทางแยกต่างระดับถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก (ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9) อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา สิ้นสุดที่ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา

มีด่านเก็บค่าผ่านทางทั้งหมด 9 แห่ง มีศูนย์บริการทางหลวง 1 แห่ง สถานีบริการทางหลวง (Service Area) 2 แห่ง และ ที่พักริมทางหลวง (Rest Area) 5 แห่ง มูลค่าการก่อสร้างกว่า 7.7 หมื่นล้านบาท และหากการก่อสร้างเป็นไปตามกำหนดจะแล้วเสร็จในปี 2562

ส่วนการเวนคืนที่ดินใช้งบประมาณกว่า 6.6 พันล้านบาท ตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน - นครราชสีมา พ.ศ. 2556 ในส่วนของ จ.นครราชสีมา มีเขตที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกา ได้แก่ อ.ปากช่อง, สีคิ้ว, สูงเนิน, ขามทะเลสอ, เมืองนครราชสีมา มีส่วนที่แคบที่สุด 400 เมตร และ ส่วนที่กว้างที่สุด 2,500 เมตร

สำหรับการจ่ายเงินค่าทดแทนในการเวนคืนทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 ประกอบด้วย ที่ดิน, สิ่งปลูกสร้างและพืชผล กรมทางหลวงได้รับงบประมาณค่าสิ่งปลูกสร้างและพืชผลแล้ว จำนวน 334,101,600 บาท เป็นค่าสิ่งปลูกสร้างจำนวน 372 ราย และ พืชผล 537 ราย ได้ดำเนินการจ่ายไปแล้ว 2 งวด เป็นเงินกว่า 75.4 ล้านบาท คงเหลือที่จะจ่ายในงวดต่อไปอีกกว่า 70.6 ล้านบาท

ส่วนการดำเนินการตามข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎรที่ได้รับผลกระทบนั้น ที่ผ่านมา กรมทางหลวงไม่ได้นิ่งนอนใจนำเอาปัญหาทุกเรื่องที่ราษฎรเรียกร้องไปหารือ เพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุดและได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยการประชุมของกรมทางหลวง ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2559 ที่ผ่านมา มีมติให้มีการแก้ไขปรับปรุงแบบในส่วนของพื้นที่ที่ผ่านจังหวัดนครราชสีมาหลายจุด

โดยเฉพาะจุดที่กลุ่มราษฎร อ.ปากช่อง ที่ร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรี ช่วง กม.107 - กม.110 รวมทางแยกต่างระดับปากช่อง ซึ่ง นายละออง ศาลา แกนนำกลุ่มมวลชนเคยนำเสนอไปแล้วนั้น ที่ประชุมเห็นว่า เมื่อมีการพิจารณาข้อดี - ข้อด้อย ของรูปแบบแนวเส้นทางที่เป็นไปได้ โดยการพิจารณาเปรียบเทียบในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งสรุปได้ว่ารูปแบบที่ออกแบบไว้เดิมมีความเหมาะสมมากที่สุด และที่ผ่านมา ได้มีการประสานงานหารือกับผู้ร้องเรียนรวมทั้งลงพื้นที่พบปะประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อหาแนวทางแก้ไข

โดยได้พิจารณาปรับปรุงรูปแบบต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมเพื่อลดผลกระทบ เช่น ออกแบบแก้ไขปรับลดขนาดพื้นที่ของ “สถานีบริการทางหลวงปากช่อง” รวมถึงออกแบบแก้ไขปรับรูปแบบทางแยกต่างระดับใหม่ เพื่อลดผลกระทบการเวนคืนที่ดินและพิจารณาออกแบบปรับปรุงส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ส่วนการจ่ายค่าทดแทนที่ดินนั้น ได้มีการพิจารณาให้สูงกว่าราคาประเมินขั้นต่ำประมาณ 70% แต่จะให้เท่ากับราคาตลาดที่ซื้อขายกันคงเป็นไปไม่ได้ และหากราษฎรคนใดไม่พอใจค่าทดแทนที่ได้รับสามารถยืนอุทธรณ์เข้ามาได้

ด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA นั้น กรมทางหลวงได้อนุมัติงบประมาณ 12.5 ล้านบาท ในการทำ EIA ซ้ำอีก ในจุดที่มีปัญหาการร้องเรียนทุกจุด ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือน เม.ย. นี้

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ลงพื้นที่ชี้แจงประชาชนใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อทำความเข้าใจต่อกรณีที่ร้องเรียนของกลุ่มราษฎรผู้เดือดร้อน เพื่อให้เกิดความกระจ่างและเข้าใจตรงกัน ไม่มีปัญหาร้องเรียนผ่านไปยังหน่วยงานอื่น ๆ อีก เพื่อให้โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน - นครราชสีมา เดินหน้าต่อไปได้ โดยจะมีการกำหนดวันที่แน่ชัดอีกครั้ง



นายเสน่ห์  นิ่งใจเย็น ผู้อำนวยการสำนักจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน กรมทางหลวง
กำลังโหลดความคิดเห็น