xs
xsm
sm
md
lg

“อาคม” ชี้หน้าที่บอร์ด กทพ.สั่งสู้คดีทางด่วน ด้านอัยการระบุคำชี้ขาดอนุญาโตฯ เกินขอบเขต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อาคม” เผย กทพ.เดินหน้ายื่นศาลปกครองขอเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ คดีข้อพิพาทค่าทางด่วนปี 46 ได้ทันที ระบุไม่ต้องเสนอ ครม.เห็นชอบเพราะอยู่ในขอบเขตอำนาจของบอร์ด กทพ.ที่มีมติชัดเจนให้ยื่นศาลภายใน 1 มิ.ย.นี้ ขณะที่เปิดช่องเจรจาหากมีข้อยุติที่ดีกว่าเสนอ ครม.พิจารณาได้ ด้าน “อัยการสูงสุด” ยันคำชี้ขาดอนุญาโตฯ เกินขอบเขตอำนาจอนุญาโตฯ เตรียมฟ้องเพิกถอน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 พ.ค. กระทรวงคมนาคมได้รายงานด้วยวาจาต่อที่ประชุม ครม. ถึงกรณีข้อพิพาทการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษตามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ปี พ.ศ. 2546 ระหว่าง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEN ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากชี้ขาดให้ กทพ.จ่ายชดเชยให้ BEM เท่านั้น เนื่องจากได้พิจารณามติคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.แล้วเห็นว่าขั้นตอนยังไม่ถึงขั้นที่ต้องเสนอ ครม.พิจารณา โดยยังอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของบอร์ด กทพ.และ กทพ. ดังนั้นจะแจ้งให้ กทพ.รับไปพิจารณาตามที่บอร์ด กทพ.ได้มีมติให้ยื่นต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการก่อนวันที่ 1 มิ.ย. 2559 หรือภายใน 90 วันหลังจากที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาด

ทั้งนี้ ทราบว่าทางบอร์ด กทพ.ให้ กทพ.แจ้งต่ออัยการสูงสุดเพื่อเตรียมการยื่นศาลปกครองไว้แล้ว ซึ่งอัยการสูงสุดได้มีหนังสือตอบมาแล้วว่าสามารถยื่นศาลปกครองได้ เนื่องจากข้อวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการในกรณีดังกล่าวเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาท

“ผมได้รายงานต่อ ครม.ด้วยวาจา เพราะพิจารณามติบอร์ด กทพ.ที่ได้เสนอมาที่กระทรวงคมนาคมเพื่อให้เสนอ ครม.ถึงแนวทางการดำเนินงาน โดยบอร์ดจะยื่นศาลปกครองขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น เห็นว่าขณะนี้ยังไม่มีประเด็นที่ ครม.ต้องพิจารณา เพราะ กทพ.ยังสามารถดำเนินการส่งศาลเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดได้ ซึ่งในอดีตมีหลายๆ สัญญาที่อนุญาโตตุลาการพิจารณาชี้ขาด เราเคารพมติอนุญาโตตุลาการ แต่หากหน่วยงานยังเห็นว่าอาจจะมีข้อมูลบางประเด็นที่ยังชี้แจงต่อศาลได้ก็ยื่นศาลได้ ซึ่งสัญญาสัมปทานระหว่างรัฐกับเอกชนเป็นสัญญาทางปกครองที่มีแนวทางปฏิบัติตามมติ ครม.อยู่แล้ว” นายอาคมกล่าว

ส่วนมติบอร์ดที่เสนอว่า ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาลปกครองนั้นยังสามารถเจรจากับเอกชนคู่ขนานไปด้วยนั้น สามารถทำได้ การยื่นฟ้องทำตามสิทธิ และเจรจาไปด้วย หากได้ว่าเจรจาได้ข้อยุติที่ดีที่สุดเสนอเรื่องมาได้ ซึ่งได้รับรายงานว่าการเจรจาได้ระดับหนึ่งแต่ยังไม่สิ้นสุด หากผลการเจรจาออกมาแล้ว กทพ.เห็นว่าดี มีประโยชน์ สามารถเสนอมาที่กระทรวงและ ครม.เพื่อพิจารณาได้ อย่างไรก็ตาม ทราบว่าบอร์ด กทพ.ประชุมวันที่ 24 พ.ค. คาดว่าจะเป็นการเตรียมรอรับหาก ครม.มีมติใดๆ ออกมา แต่ในทางปฏิบัติบอร์ด กทพ.ได้มีมติที่ชัดเจนไปแล้วว่าจะดำเนินการยื่นศาลปกครอง

นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการ กทพ.กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2559 สำนักงานคดีปกครอง สำนักงานอัยการสูงสุด โดยนายเชิดศักดิ์ หิรัญสิริสมบัติ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปกครอง ได้ส่งหนังสือชี้แจงตามที่ กทพ.เสนอขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งทางสำนักงานคดีปกครอง สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากเป็นคำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ และเป็นขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ คำชี้ขาดนั้นเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถระงับโดยการอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมาย และการยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คดีมีเหตุอันควรยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้พิจารณาพิพากษาต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ได้มีการปรับแก้ถ้อยคำ มติบอร์ด กทพ.เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ในเรื่องข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 53/2551 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 6/2559 (การปรับอัตราค่าผ่านทาง ทางพิเศษตามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ปี พ.ศ. 2546) ใหม่เพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยมีมติ 3 ข้อ คือ 1. ให้ กทพ.จัดทำหนังสือนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ เพื่อขอให้พิจารณานำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีทราบ กรณีให้ กทพ.นำข้อพิพาทดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองต่อไป ทั้งนี้ ให้ กทพ.จัดทำข้อดี ข้อเสียของการดำเนินการดังกล่าวให้ชัดเจนเพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม.

2. ให้ กทพ.แจ้งสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมาก ซึ่งได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2559 ต่อศาลปกครองตามขั้นตอนต่อไป

และ 3. ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ให้ กทพ. สามารถเจรจาหาข้อยุติ หากได้ข้อยุติที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อรัฐและประชนและให้นำผลการเจรจาเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและยุติการดำเนินคดีต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น