โกลบอล เพาเวอร์ฯ ปลื้มกำไรไตรมาส 1/59 แตะ 87 ล้านบาท โตขึ้น 64% จากการขายไฟให้ลูกค้าใหม่และอากาศที่ร้อน
นายเติมชัย บุนนาค กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 1/59 บริษัทมีกำไรสุทธิ 871 ล้านบาท เติบโต 64% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 160% จากไตรมาส 4/58 เนื่องจากการขายไฟฟ้าให้ลูกค้ารายใหม่ และความต้องการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มสูงในช่วงฤดูร้อน ส่งผลให้มีการเพิ่มปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำ รวมทั้งบริษัทได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงานของโรงไฟฟ้า (Plant optimization) เพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วย
ประกอบกับยังรับรู้รายได้ปันผลจากการที่บริษัทเข้าลงทุนใน บริษัท ราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด (RPCL) ในสัดส่วน 15% คิดเป็นจำนวน 180 ล้านบาทด้วย
“จากผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกถือว่าเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะกำไรที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภายในองค์กรให้เป็นไปตามเป้าหมาย ประกอบกับโครงการต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างยังคงเป็นไปตามแผนงาน ส่งผลให้ฐานะการเงินของบริษัทมีความแข็งแกร่งมากขึ้น รวมถึงกระแสเงินสดหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากอัตราหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 0.48 เท่า ซึ่งน้อยกว่านโยบายที่ผู้บริหารกำหนดไว้ ทำให้บริษัทยังมีขีดความสามารถในการแสวงหาโอกาสการลงทุนทั้งในและต่างประเทศได้ โดยเฉพาะการหาแหล่งเงินเพื่อมาลงทุนในอนาคตอย่างมั่นคง และยั่งยืน” นายเติมชัยกล่าว
บริษัทมีโครงการโรงไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 584 เมกะวัตต์ โดยจะทยอยรับรู้รายได้ในเดือนมิถุนายน ปี 2559 ถึงปี 2562 ดังนี้คือ โรงไฟฟ้าที่คาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) เดือนมิถุนายน 2559 ได้แก่ บริษัท ผลิตไฟฟ้านวนคร จำกัด (NNEG) ซึ่งดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าโคเจเนอเรชัน ประเภทผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) กำลังการผลิตไฟฟ้า 125 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 30 ตันต่อชั่วโมง ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 30%
โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โซลาร์สหกรณ์ ผ่านบริษัทในเครือ ที่บริษัทถือหุ้น 100% เป็นผู้ดำเนินโครงการ มีกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ ซึ่งกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เป็นไปตามกำหนดของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คาดว่าภายใน 30 ธันวาคม 2559 นี้
โครงการที่คาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2560 มี 3 โครงการ ได้แก่ บริษัท ไออาร์พีซี คลีน พาวเวอร์ จำกัด (IRPC-CP) ระยะที่ 2 ซึ่งดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าโคเจเนอเรชัน ประเภทผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก กำลังการผลิตรวมกับระยะที่ 1 ทั้งสิ้น 240 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 170-300 ตันต่อชั่วโมง ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง บริษัทถือหุ้นสัดส่วน 51%
บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ระยะที่ 2 ซึ่งดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าโคเจเนอเรชัน ประเภทผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก กำลังการผลิตไฟฟ้า 117 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 20 ตันต่อชั่วโมง ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง บริษัทถือหุ้นสัดส่วน 25% และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Ichinoseki Solar Power 1 GK (ISP1) ประเทศญี่ปุ่น กำลังผลิต 20.8 เมกะวัตต์ โดยมี FIT 40 เยน/กิโลวัตต์-ชั่วโมง ระยะเวลา 20 ปี บริษัทถือหุ้นสัดส่วน 99%
โครงการที่คาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2561 จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โรงผลิตสาธารณูปการแห่งที่ 4 ซึ่งดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าโคเจเนอเรชันให้ลูกค้าอุตสาหกรรมกลุ่มปิโตรเคมี ตั้งอยู่บริเวณนิคมเอเชีย จังหวัดระยอง กำลังการผลิตไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 70 ตัน/ชั่วโมง ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง บริษัทถือหุ้นสัดส่วน 100% และบริษัท ไฟฟ้าน้ำลิก 1 จำกัด ดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำชนิดฝายน้ำล้น (Run-of-River Hydropower) ที่ สปป.ลาว กำลังการผลิตไฟฟ้า 65 เมกกะวัตต์ บริษัทถือหุ้นสัดส่วน 40% คาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2562 ได้แก่ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำชนิดฝายน้ำล้น (Run-of-River Hydropower) ที่ สปป.ลาว กำลังการผลิตไฟฟ้า 1,285 เมกกะวัตต์ บริษัทถือหุ้นสัดส่วน 25%