“พาณิชย์” เผยสหรัฐฯ คงบัญชี PWL ไทยต่ออีกปีตามคาด เหตุสหรัฐฯ อ้างยังเห็นของเถื่อนวางขายเกลื่อน “อภิรดี” บอกรู้ตัวมาก่อน พร้อมย้ำไม่กระทบการค้า การลงทุน และไม่ถูกตัดจีเอสพี ยันไทยแก้ปัญหามาต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงเพื่อหลุดบัญชีดำ แต่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศไปสู่โมเดล 4.0
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้ประกาศสถานะคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตามกฎหมายการค้า มาตรา 301 พิเศษว่า ในปีนี้ ยูเอสทีอาร์ ยังคงอันดับของไทยในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ต่อเนื่องอีก 1 ปีนับจากปี 2550 ถือเป็นปีที่ 9 แต่เป็นสิ่งที่ไทยรู้ตัวมาโดยตลอด เพราะสหรัฐฯ อ้างว่ายังเห็นสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาวางขายในไทยอยู่ โดยเฉพาะในตลาด Notorious Markets 13 แห่งที่วางสินค้าละเมิดจำนวนมาก
ทั้งนี้ ยืนยันว่าการที่ไทยยังคงอยู่ในกลุ่มนี้ต่อไปจะไม่กระทบต่อการค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมถึงสหรัฐฯ จะไม่ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่ให้กับสินค้าไทยอย่างแน่นอน
”ตั้งแต่ไทยอยู่ในกลุ่ม PWL กระทรวงฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการแก้ปัญหามาโดยตลอด ทั้งการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้การปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและปราบปรามการละเมิด ทั้งเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง จนขณะนี้สินค้าละเมิดลดลงไปมากแล้ว รวมทั้งยังได้ปราบปรามสินค้าปลอมที่เป็นอาหารและเครื่องดื่ม ยารักษาโรค สบู่ แชมพู อย่างจริงจังด้วย เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของผู้บริโภค และต่อจากนี้ไทยยังคงเดินหน้าแก้ปัญหาต่อเนื่องโดยไม่หยุดแน่นอน” นางอภิรดีกล่าว
นางอภิรดีกล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เพียงเพื่อต้องการให้ไทยหลุดจากกลุ่มประเทศ PWL แต่ทำเพื่อปกป้องและคุ้มคอรงทรัพย์สินทางปัญญาของไทยไม่ให้ถูกต่างประเทศละเมิด และไม่ให้คนไทยละเมิดสิทธิกันเองด้วย ที่สำคัญการดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด ยังเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปประเทศไทยไปสู่โมเดล 4.0 หรือประเทศที่จะใช้นวัตกรรม และดิจิตอลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ส่วนกรณีที่ USTR ระบุว่า การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาของไทยยังไม่เข้มงวดเท่าที่ควร แม้ว่า ไทยจะแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายลิขสิทธิ์ แต่ยังไม่ได้แก้ไขในประเด็นที่ต่างชาติเป็นกังวล โดยเฉพาะการเอาผิดกับเจ้าของอาคารสถานที่ที่ให้ขายสินค้าละเมิดนั้น เป็นสิ่งที่ USTR อ้างมาโดยตลอด แต่ที่ผ่านมาไทยมีความพยายามในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่แล้ว ส่วนการแก้ไขกฎหมายที่ยังไม่ถูกใจต่างชาติก็อาจมีการปรับแก้อีกก็เป็นได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปีนี้ USTR ได้คงสถานะไทยในกลุ่ม PWL ต่ออีก 1 ปี ร่วมกับจีน อินโดนีเซีย อินเดีย อัลจีเรีย คูเวต รัสเซีย ยูเครน อาร์เจนตินา ชิลี และเวเนซุเอลา โดยระบุว่าการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของไทยยังไม่เข้มงวด และยังแทบไม่มีความก้าวหน้าในการแก้ปัญหา แม้จะปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายศุลกากร ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรสงสัย และจับกุมสินค้าละเมิดที่ลักลอบนำเข้ามาในไทย และแก้กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ครอบคลุมถึงการลักลอบแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์ และการป้องกันการละเมิดบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แต่กลับไม่แก้ไขในประเด็นที่เจ้าของสิทธิต่างชาติกังวล คือ การเอาผิดกับเจ้าของอาคารสถานที่ที่ให้ขายสินค้าละเมิด
นอกจากนี้ แม้ในกฎหมายลิขสิทธิ์ได้แก้ไขให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) สามารถถอดเนื้อหาที่ละเมิด หรือปิดเว็บไซต์ที่ละเมิดได้ แต่ก็ยังมีปัญหาในขั้นตอนการปฏิบัติ เพราะเว็บไซต์ที่ละเมิดส่วนใหญ่มีเซิร์ฟเวอร์ในต่างประเทศ ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ยังกังวลถึงการขาดแคลนบุคลากรของกรมทรัพย์สินทางปัญญาจนทำให้การพิจารณาคำขอจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาล่าช้ามาก และยังต้องการให้ไทยมีระบบปกป้องการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงการปกปิดผลการทดสอบยา และผลิตภัณฑ์ทางเคมีที่เกี่ยวกับสินค้าเกษตรด้วย