“อภิรดี” บินจับเข่าคุยสหรัฐฯ ในกรอบ TIFA ครั้งแรกในรอบ 13 ปี หารือขยายความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน สบช่องขอเพิ่มรายการสินค้าได้ GSP หลังผู้ผลิตแบรนด์ดังสหรัฐฯ ทั้ง TUMI, Coach, Michael Kors และ Under Armour หนุน พร้อมขอทราบรายละเอียดข้อตกลง TPP ก่อนนำมาใช้กำหนดท่าทีไทย
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จะเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ ระดับรัฐมนตรี (TIFA) ระหว่างวันที่ 20-22 เม.ย. 2559 ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ถือเป็นการประชุมครั้งแรกในรอบ 13 ปี หลังจากที่ได้มีการตกลงให้มี TIFA โดยจะมีการหารือเพื่อขยายความร่วมมือในด้านการค้า การลงทุน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ไทยจะใช้โอกาสนี้ในการหารือกับนาย Michael B.Froman ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เพื่อหาแนวทางความร่วมมือและแก้ไขอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ไทยจะขอให้สหรัฐฯ เพิ่มเติมรายการสินค้าที่ได้ GSP และคงสิทธิ GSP สำหรับสินค้าเครื่องเดินทาง ทั้งกระเป๋าถือและกระเป๋าเดินทาง และน้ำมะพร้าว ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพและสามารถขยายส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้
“ทางผู้ผลิตแบรนด์ดังของสหรัฐฯ พร้อมที่จะหนุนไทยให้ได้รับสิทธิ GSP ต่อไป ไม่ว่าจะเป็น TUMI, Coach, Michael Kors และ Under Armour เพราะผู้ผลิตเหล่านี้มีแผนที่จะย้ายฐานการผลิตมายังไทย ซึ่งหากไทยยังคงได้สิทธิ GSP ก็จะส่งผลดีต่อการส่งออกไปยังสหรัฐฯ”นางอภิรดีกล่าว
นางอภิรดีกล่าวว่า จะหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปชิฟิก (TPP) กับสหรัฐฯ โดยจะสอบถามสหรัฐฯ เกี่ยวกับความตกลงว่าเป็นยังไง มีรายละเอียดอะไรบ้าง และจะแจ้งข้อกังวลของไทย เพื่อขอคำชี้แจงจากสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจของรัฐบาล โดยรัฐบาลจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในช่วงปลายเดือน เม.ย.นี้
นอกจากนี้ ไทยยังจะได้ชี้แจงกับสหรัฐฯ ถึงความคืบหน้าการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ การเข้าเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศ การเข้มงวดในการปราบปรามการละเมิด เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อสหรัฐฯ ในการนำไปประกอบการพิจารณาบัญชีสถานะประเทศไทยภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ซึ่งหวังว่าสหรัฐฯ จะปลดไทยออกจากบัญชีประเทศที่ถูกจับตาเป็นพิเศษ (PWL) ต่อไป
ขณะเดียวกัน ไทยจะแจ้งสหรัฐฯ เกี่ยวกับความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) การค้ามนุษย์ และแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นวาระแห่งชาติ และการทำงานในเรื่องเหล่านี้มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบเรื่องนี้ในตลาดสหรัฐฯ
นางอภิรดีกล่าวว่า สำหรับการหารือกับสภาหอการค้าสหรัฐฯ จะหารือกับผู้นำเข้าและนักลงทุนสหรัฐฯ เพื่อขยายโอกาสการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นนักลงทุนอันดับหนึ่งในไทย ซึ่งจะมีการหารือเพื่อให้มีการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความร่วมมือด้านพลังงานทดแทนที่สหรัฐฯ ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน รวมถึงการลงทุนด้านอื่นๆ ที่ขณะนี้ไทยมีความได้เปรียบในการเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค และล่าสุดได้มีการเชื่อมโยงระบบลอจิสติสก์ การคมนาคมขนส่ง และมีนโยบายในการส่งเสริมการลงทุนที่เน้นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นที่ดึงดูดการลงทุนมากขึ้น