xs
xsm
sm
md
lg

“อภิรดี” เผยประชุม TIFA สำเร็จตามเป้า ขอสหรัฐฯ เพิ่มสินค้าได้ GSP ปลดพ้นบัญชี PWL และบัญชีไซเตส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อภิรดี” เผยผลประชุม TIFA ครั้งแรกในรอบ 13 ปีประสบความสำเร็จตามเป้า ไทย-สหรัฐฯ ตกลงขยายความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าให้หมดไป ไทยรุกขอเพิ่มสินค้าได้ GSP และปลดไทยออกจากบัญชี PWL พร้อมขอให้หนุนไทยพ้นบัญชีไซเตส

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมกรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ ระดับรัฐมนตรี (TIFA) ครั้งแรกในรอบ 13 ปี นับจากปี 2546 ระหว่างวันที่ 20-22 เม.ย. ว่า ได้หารือกับนาย Michael B. Froman ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เพื่อขยายแนวทางความร่วมมือในการขยายการค้า การลงทุน และการแก้ไขอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจของนักลงทุนสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อการสานต่อความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ กว่า 183 ปี

“ในการหารือครั้งนี้ไทยได้ตอกย้ำความคืบหน้าการดำเนินการตามโรดแมปของรัฐบาล เพื่อเน้นย้ำให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ มั่นใจต่อเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทย”

ทั้งนี้ ยังได้มีการหารือในประเด็นทางเศรษฐกิจยุคใหม่ที่มีความสนใจร่วมกัน เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจการเงิน เพื่อรองรับการเป็นเศรษฐกิจดิจิตอลของไทยตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งสหรัฐฯ เห็นด้วยกับแนวทางปฏิรูปของไทย และชื่นชมการเข้าเป็นสมาชิกความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าของไทยภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าของนโยบายไทยในการเร่งสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจในระดับสากล

นางอภิรดีกล่าวว่า หลังจากหารือกันในระดับนโยบายแล้ว ทั้งสองฝ่ายได้มีการประชุมในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส โดยนายวินิจฉัย แจ่งแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะ โดยได้หารือเกี่ยวกับประเด็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการขยายการค้าการลงทุนของไทย โดยเฉพาะการขอให้สหรัฐฯ พิจารณาให้สิทธิ GSP แก่สินค้าหมวดเดินทาง และน้ำมะพร้าว ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่เป็นที่ต้องการและมีศักยภาพในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งในประเด็นนี้ภาคเอกชนสหรัฐฯ ทั้ง Coach, Michael Kors และ Under Armour ต่างให้การสนับสนุนไทย

นอกจากนี้ ได้หารือความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาในการอบรมเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสิทธิบัตรของไทย เพื่อเร่งกระบวนการอนุมัติสิทธิบัตร ตลอดจนการจัดสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับกฎหมายความปลอดภัยทางอาหารฉบับใหม่ของสหรัฐฯ และหารือถึงการเตรียมการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยปลดล็อกไทยจากสถานะประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ในเรื่องการป้องกันและปราบปรามทรัพย์สินทางปัญญาในอนาคต

“ไทยได้ขอให้สหรัฐฯ สนับสนุนการถอดถอนไทยออกจากประเทศที่น่ากังวล (Primary Concern) เกี่ยวกับการควบคุมการค้างาช้างผิดกฎหมายในการประชุม CITES ครั้งต่อไปในเดือน ก.ย. 2559 เนื่องจากไทยสามารถดำเนินการตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งชาติได้อย่างสมบูรณ์”

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้สหรัฐฯ ได้คลายข้อกังวลเกี่ยวกับระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ซึ่งจะลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ รวมทั้งส่งเสริมการดำเนินการของผู้ประกอบการบัตรเดรดิต

ปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย ทั้งสองฝ่ายมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน37,921.51 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 1 ของไทย โดยไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 24,057.92 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่สหรัฐฯ เป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 3 ของไทย เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 13,863.59 ล้านเหรียญสหรัฐ






กำลังโหลดความคิดเห็น