สสจ. สกลนคร แจงไม่พบ “ปลาหมึกสายวงน้ำเงิน” ในแหล่งขายปลาหมึก ปูดพบปลาหมึกปนเปื้อน “ฟอร์มาลิน” เพียบ น่าห่วงกว่า ด้านหัวหน้าศูนย์พิษรามาฯ เผย “หมึกวงน้ำเงิน” มีพิษชนิดเดียวกับ “ปลาปักเป้า - แมงดาทะเล” ทำมือเท้าชา หายใจเองไม่ได้ ถึงขั้นตาย
จากกรณีการแชร์ข้อมูลพบปลาหมึกสายวงน้ำเงิน (blue-ringed octopuses) ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ซึ่งมีการระบุว่าเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งใน จ.ยโสธร ขณะที่บางข้อมูลระบุว่าเป็น จ.สกลนคร นั้น วันนี้ (23 ก.พ.) ภก.กิตติศักดิ์ ไท้ทอง หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค และเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สกลนคร กล่าวว่า ปลาหมึกสายวงน้ำเงินมีพิษตามธรรมชาติเหมือนกับปลาปักเป้า เบื้องต้นไม่พบว่าอยู่ในแหล่งจำหน่ายอาหาร แต่พบในแหล่งประมง หรือท่าเรือ เนื่องจากยังไม่ได้คัดแยกสัตว์ทะเลที่จับมาได้ ซึ่งจะมีการลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ จ.สกลนคร ถือเป็นจังหวัดปลายทาง และที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาเรื่องพบปลาหมึกสายวงน้ำเงิน แต่มักมีปัญหาพบปลาหมึกปนเปื้อนฟอร์มาลิน ซึ่งเคยตรวจพบในปลาหมึกสดอาร์เจนตินาเมื่อปลายปี 2558 ทั้งในสถานที่จำหน่าย และห้องเย็น ซึ่งเป็นสถานที่เก็บปลาหมึกสดก่อนกระจายออกสู่ท้องตลาด จึงได้สั่งให้มีการทำลายแล้ว
ภก.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนการตรวจสอบล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา ด้วยชุดทดสอบฟอร์มาลิน ยังพบการปนเปื้อนในปลาหมึกที่ขายในท้องตลาดและห้องเย็น ขณะได้มีการส่งตัวอย่างไปตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในพื้นที่แล้วอยู่ระหว่างรอผล ทั้งนี้ ฟอร์มาลินถือเป็นสารต้องห้ามที่มีการปนเปื้อนในอาหาร เพราะถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมายอาหารมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท อย่างไรก็ตาม การพบฟอร์มาลินปนเปื้อนในปลาหมึกครั้งล่าสุดนี้ ทำให้มีการคาดการณ์ว่าไม่น่าจะเกิดการปนเปื้อนจากตลาด แต่น่าจะมีการปนเปื้อนมาตั้งแต่ระบบการนำเข้า จึงได้แจ้งเตือนให้มีการเฝ้าระวังทั้งประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีท่าเรือนำเข้าปลาหมึกจากต่างประเทศ
ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปลาหมึกสายวงน้ำเงิน มีพิษเทโทรโดทอกซิน (Tetrodotoxin) ซึ่งเป็นพิษตัวเดียวกันกับปลาปักเป้าและแมงดาทะเล หากได้รับพิษเข้าสู่ร่างกายจะทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน จากนั้นจะเริ่มชาตามมือ เท้า ขึ้นมาถึงลำตัว ทำให้มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงจนหายใจลำบาก หายใจไม่ได้และเสียชีวิต โดยอาการทั้งหมดสามารถเกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ตั้งแต่ระดับนาทีไปจนถึงชั่วโมง ขึ้นอยู่กับปริมาณพิษที่เข้าสู่ร่างกาย ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ซึ่งระหว่างการนำส่งโรงพยาบาลนั้นหากผู้ป่วยเริ่มมีปัญหาเรื่องการหายใจก็ต้องปฐมพยาบาลช่วยเรื่องการหายใจเป็นหลัก
“ปลาปักเป้าจะพบพิษดังกล่าวที่อวัยวะภายใน และหนัง ส่วนแมงดาทะเลจะพบได้ในไข่ ส่วนมากได้รับพิษเข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทาน ขณะที่ปลาหมึกสายวงน้ำเงินจะมีต่อมพิษ เอาไว้กัดแล้วปล่อยใส่ศัตรูที่จะมาทำร้าย คนไม่ได้รับประทาน ซึ่งช่วงที่พบมากที่สุดคือเดือน ก.พ.- มี.ค. ในมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่ประเทศญี่ปุ่นจนถึงออสเตรเลีย โดยเฉพาะออสเตรเลียพบได้มาก ส่วนประเทศไทยยังไม่พบรายงาน และไม่เคยมีรายงานว่ามีคนรับประทานปลาหมึกดังกล่าวแล้วเกิดอันตรายแต่อย่างใด” ศ.นพ.วินัย กล่าว
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ได้รับรายงานพบที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ที่จ.ยโสธร และทราบว่าทางห้างสรรพสินค้าดังกล่าวได้มีการส่งตัวอย่างปลาหมึกไปตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์แล้ว แต่ยังมไม่ทราบว่าเป็นห้องปฏิบัติการของสถาบันใด แต่ อย.จะต้องลงไปตรวจสอบอีกครึ่งหนึ่ง ซึ่งถือเป็นมาตรการตามปกติในการดูแลเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีผู้เชี่ยวชาญออกมาให้ข้อมูลว่าปลาหมึกดังกล่าวมีพิษนั้น อย.ต้องตรวจสอบก่อน หากพบว่ามีพิษจริงจะถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีความผิดตามมาตรา 58 พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นขอให้คนจำหน่าย และประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานอาหารด้วย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่