xs
xsm
sm
md
lg

หยุดใช้น้ำมันทอดซ้ำ ป้องกันมะเร็ง-ความดัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คนไทยบริโภคน้ำมันพืชปีละกว่า ๘ แสนตัน และมีผู้บริโภคส่วนหนึ่งใช้น้ำมันที่ผ่านการทอดอาหารซ้ำเป็นเวลานาน นอกจากทำให้คุณค่าทางโภชนาการลดลงแล้วยังมีอันตรายต่อสุขภาพ มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และโรคความดันโลหิตสูง มีความเสี่ยงต่อการได้รับสารก่อมะเร็ง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นโรคที่มีอัตราป่วยและอัตราตายในระดับสูง

ส่วนน้ำมันที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน มีด้วยกัน ๒ ชนิด คือน้ำมันจากไขสัตว์ (น้ำมันหมู และน้ำมันวัว เป็นต้น ซึ่งมีกรดไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลสูง) น้ำมันพืช ได้จากพืชชนิดต่างๆ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จับมือภาคีเครือข่ายผุดยุทธศาสตร์จัดการน้ำมันทอดซ้ำ ปกป้องสุขภาพคนไทย หวังบูรณาการแก้ปัญหาทั้งระบบหนุนแปลงน้ำมันทอดซ้ำ เป็นไบโอดีเซล ด้านกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ผลิตชุดตรวจคุณภาพน้ำมันทอดซ้ำ “ซุปเปอร์จิ๋ว” ได้ผลแม่นยำร้อยละ ๙๙.๒

นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แต่ละปีคนไทยบริโภคน้ำมันพืชกว่า ๘ แสนตัน ส่วนใหญ่นิยมกินอาหารประเภททอด โดยพบว่ามีร้านค้าจำนวนมากที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะมีสารอันตราย คือ สารโพลาร์ (Polar compounds) เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และสารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic aromatic hydrocarbons; PAHs) เป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งพบได้ทั้งในน้ำมันทอดอาหารที่เสื่อมสภาพ และในไอที่ระเหยขณะทอดอาหาร จึงมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้ทั้งผู้ขายและผู้บริโภค

“ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ในปี ๒๕๕๒ พบคนไทยมีอัตราการป่วยโรคความดันโลหิตสูงถึง ๙๘๑.๔๘ คนต่อประชากรแสนคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นขึ้นทุกปี ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงมีความสัมพันธ์กับโรคระบบไหลเวียนโลหิต เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดหัวใจตีบ และเส้นเลือดสมอง เป็นสาเหตุการตายอันดับที่ ๔ ของคนไทย ส่วนโรคมะเร็ง เป็นสาเหตุการตายอันดับ ๑ ของคนไทย มีอัตราป่วย ๑๓๓.๑ คนต่อประชากรแสนคน

ทั้งนี้ ภาควิชาการได้นำเสนออันตรายจากน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในระดับประเทศยังไม่มีนโยบายและมาตรการทางกฎหมายหรือบทลงโทษการแก้ปัญหาน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพในภาพรวมอย่างเป็นระบบ

หากภาครัฐให้ความสำคัญและนำไปสู่การผลักดันมาตรการทางกฎหมายควบคู่กับการรณรงค์ให้ความรู้ประชาชน จะสามารถกำจัดน้ำมันที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพคนไทย อีกทั้งยังได้น้ำมันไบโอดีเซล เป็นพลังงานทดแทน ช่วยลดภาระทางเศรษฐกิจระดับประเทศได้อีกด้วย”

ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ ๗ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมวิทย์ฯ ร่วมกับ สสส. และ คคส. ทำงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำร่องหลายแห่ง ดำเนินโครงการปฏิวัติน้ำมันทอดซ้ำ เพื่อสร้างความตื่นตัวในทุกภาคส่วนและขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการคุ้มครองสุขภาพประชาชน โดยให้ความรู้เรื่องอันตรายของน้ำมันทอดซ้ำ และสนับสนุนการนำน้ำมันทอดซ้ำมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนไบโอดีเซล ซึ่งได้ผลอย่างมากช่วยตัดวงจรน้ำมันเสื่อมสภาพไม่ให้เข้ามาในวงจรอาหารได้ หากนำน้ำมันทอดซ้ำไปผลิตเป็นพลังงานทดแทนไบโอดีเซลได้ทั้งหมด ไทยจะมีพลังงานทดแทนใช้ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ล้านลิตรต่อปี

“กรมวิทย์ฯ และเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค สำรวจพบมีกลุ่มพ่อค้าเห็นแก่ได้ออกซื้อน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพจากแหล่งต่างๆ นำไปฟอกสีให้ใส ใส่ถุงพลาสติกไม่มีฉลาก แล้วนำกลับมาขายให้กับโรงงานผลิตอาหารขนาดเล็ก โรงงานก๋วยเตี๋ยว ตลอดจนให้กับผู้บริโภคตามตลาดนัด และตลาดสด หรือที่รู้จักในชื่อ “น้ำมันลูกหมู” ซึ่งอันตรายต่อสุขภาพประชาชนอย่างมาก” ภก.วรวิทย์ กล่าว

ภก.วรวิทย์ กล่าวว่า แต่ขณะนี้ประชาชนสามารถตรวจสอบน้ำมันพืชก่อนใช้ได้ว่าเป็นน้ำมันมีคุณภาพหรือไม่ โดยกรมวิทย์ฯ ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คิดค้นชุดตรวจสอบน้ำมันทอดซ้ำ “ซุปเปอร์จิ๋ว” ราคาเพียง ๒๐ บาท รู้ผลเร็วภายใน ๒ นาที ได้ผลแม่นยำถึงร้อยละ ๙๙.๒ โดยใส่น้ำยาจากชุดทดสอบลงไปในน้ำมันทอดซ้ำแล้วเขย่า หากน้ำมันเปลี่ยนสีเป็นสีชมพู แสดงว่าน้ำมันดังกล่าวยังมีคุณภาพดีอยู่ ซึ่งในอดีตต้องใช้เครื่องตรวจในห้องปฏิบัติการ ราคาถึง ๔๐,๐๐๐ บาท ใช้เวลานานถึง ๔ ชั่วโมง

รศ.ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงาน คคส. กล่าวว่า เครือข่ายภาควิชาการ องค์กรภาครัฐ และภาคประชาสังคม ร่วมจัดทำ “ยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางอาหาร : การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ” ๕ ยุทธศาสตร์ ได้แก่
๑.ยุทธศาสตร์ท้องถิ่นปลอดภัยจากน้ำมันทอดซ้ำ
๒.ยุทธศาสตร์ผู้ประกอบการรับผิดชอบต่อสังคม
๓.ยุทธศาสตร์พัฒนามาตรการกำกับดูแลและดำเนินทางกฎหมาย
๔.ยุทธศาสตร์พัฒนาองค์ความรู้เพื่อการจัดการ และ ๕.ยุทธศาสตร์การสร้างความตระหนักรู้ต่อสังคม
กำลังโหลดความคิดเห็น