xs
xsm
sm
md
lg

แซลมอนนำเข้าอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย แต่ “ซาซิมิ” ยังพบปนเปื้อนจุลินทรีย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมวิทย์ ตรวจโลหะหนัก “แซลมอนนำเข้า” ยังอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ตรวจซาซิมิร้านอาหารญี่ปุ่น ยังพบจุลินทรีย์ก่อโรค เชื้ออีโคไล แต่ไม่พบพยาธิ เร่งตรวจซูชิกระบะข้างทาง

น.ส.จารุวรรณ ลิ้มสัจจะกุล ผอ.สำนักคุณภาพและความปลอดภัยทางอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการเก็บตัวอย่างเนื้อปลาแซลมอนนำเข้าจากต่างประเทศ เมื่อปี 2555 - 2558 เพื่อหาโลหะหนัก โดยการตรวจหาสารปรอท 78 ตัวอย่าง พบปนเปื้อนสารปรอท 46 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 59 ปริมาณที่พบ 0.01 - 0.04 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตรวจหาสารตะกั่ว 62 ตัวอย่าง พบปนเปื้อน 5 ตัวอย่าง ปริมาณที่พบน้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และตรวจหาสารแคดเมียม 153 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อน 3 ตัวอย่าง ปริมาณที่พบ 0.02 - 0.12 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งการปนเปื้อนทั้ง 3 ตัวนั้น อยู่ในปริมาณต่ำ ไม่เกินจากประกาศของกระทรวงสาธาณสุข ดังนั้น เนื้อปลาแซลมอนนำเข้าจึงอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย

น.ส.จารุวรรณ กล่าวฃว่า เมื่อปี 2556 ได้เก็บตัวอย่างซาซิมิจากร้านอาหารญี่ปุ่น ภัตตาคารต่าง ๆ ซูเปอร์มาร์เก็ต และ มินิมาร์ท 52 ตัวอย่าง ทั้ง กทม. ปทุมธานี นนทบุรี และ สมุทรปราการ เพื่อตรวจหาจุลินทรีย์ที่เป็นดัชนีบ่งชี้สุขลักษณะที่ดีของสถานประกอบการ และตรวจหาจุลินทรีย์ก่อโรคอาหารเป็นพิษ 5 ชนิด คือ 1. เชื้อวิบริโอ คอราลี หรือ เชื้ออหิวาตกโรค 2. พาราฮีโมไลติคัส หรือ เชื้ออหิวาตกโรคเทียม 3. ซาโมไนลา 4. ลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส และ 5. สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส และยังตรวจหาพยาธิตัวกลม ผลการตรวจสอบพบว่า 37 ตัวอย่าง มีสุขลักษณะการผลิตที่ไม่ดี เพราะเจอจุลินทรีย์ 25 ตัวอย่าง เจอเชื้ออีโคไล 1 ตัวอย่าง และเจอทั้งจุลินทรีย์ และอีโคไลเกินมาตรฐาน 11 ตัวอย่าง ส่วนผลการตรวจหาจุลินทรีย์ก่อโรค พบว่า มีเชื้อวิบริโอ และเชื้อพาราฮีโมไลติคัสใน 7 ตัวอย่าง มีเชื้อซาโมไนลา 1 ตัวอย่าง เชื้อลิสทีเรีย 5 ตัวอย่าง แต่ไม่เจอพยาธิ

“ถ้าอยากรับประทานอาหารญี่ปุ่น ขอให้เลือกซื้อร้านที่มีสุขลักษณะการผลิตที่ดี สุขอนามัยส่วนตัวของผู้ประกอบอาหารต้องดี ไม่เป็นพาหะของโรคติดต่อบางชนิด และของสดที่เอามาทำซาซิมิต้องเป็นซาซิมิเกรด เพราะมีความแตกต่างจากของสดทั่วไป และถ้าจะซื้อกลับมาทำรับประทานเองที่บ้าน ก็ขอให้เลือกซื้อชนิดที่ใช้สำหรับการทำซาซิมิโดยเฉพาะ โดยเลือกจากร้านที่มีการเก็บในอุณหภูมิที่พอเหมาะ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมาก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กรมวิทย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เฝ้าระวังกันอย่างต่อเนื่อง และกำลังเฝ้าระวังซูชิที่วางขายในกระบะตามตลาดนัด ป้ายรถเมล์อยู่ แต่ผลยังไม่ออก ดังนั้น ประชาชนถ้าจะซื้อก็ต้องดูว่ามีภาชนะปิดป้องกันฝุ่นดีหรือไม่ ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่แซลมอนสดเท่านั้น ปลาหมึกสดก็ต้องระวัง เพราะการปรุงมีการใช้มือสัมผัสโดยตรง” น.ส.จารุวรรณ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น