xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจพบ “ปลาดิบ” ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียเกินเกณฑ์ คาดใช้มีด เขียง ปนของดิบอื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผลตรวจเฝ้าระวังปลาแซลมอนนำเข้าช่วง 3 ปี ไม่พบโลหะหนักปนเปื้อนเกินเกณฑ์ที่กำหนด แต่พบปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ แบคทีเรียเกินเกณฑ์อื้อ คาดปนเปื้อนทั้งจากในธรรมชาติ ขณะแล่ปลาดิบ ใช้มีด เขียง ร่วมกับของดิบอื่น สุขอนามัยคนทำแย่

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยนิยมบริโภคเนื้อปลาแซลมอน ทั้งแบบปรุงสุกและแบบปลาดิบหรือ “ซาซิมิ” อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการส่งต่อผ่านสังคมออนไลน์ถึงความไม่ปลอดภัยในการบริโภคเนื้อปลาแซลมอน ทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวล กรมฯ โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร จึงร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เฝ้าระวังความปลอดภัย โดยการตรวจวิเคราะห์ปริมาณโลหะหนัก 3 ชนิด ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะมีการปนเปื้อน คือ ปรอท ตะกั่ว และแคดเมียม ในเนื้อปลาแซลมอนที่นำเข้าตั้งแต่ปี 2555 - ปัจจุบัน โดยพบว่า โลหะหนักทั้งสามตัวตรวจพบมีปริมาณต่ำมากและไม่เกินค่าที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดไว้

นพ.อภิชัย กล่าวว่า ส่วนซาซิมินั้น ระหว่าง พ.ค.- มิ.ย. 2556 ได้สุ่มเก็บตัวอย่างอาหารญี่ปุ่นเมนูซาชิมิ ที่ทำจากปลาทะเลดิบจากภัตตาคาร/ร้านอาหารญี่ปุ่น จำนวน 32 ร้าน จากซูเปอร์มาร์เก็ต 10 แห่ง และมินิมาร์ท 1 แห่งใน กทม. และปริมณฑล รวมทั้งหมด 52 ตัวอย่าง นำมาตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของจุลินทรีย์และพยาธิตัวกลม โดยตรวจหาจุลินทรีย์ 2 กลุ่ม คือ จุลินทรีย์ที่บ่งชี้สุขลักษณะการผลิต ได้แก่ จำนวนจุลินทรีย์รวม และอีโคไล และจุลินทรีย์ที่ก่อโรคอาหารเป็นพิษ 5 ชนิด ได้แก่ เชื้อวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส, วิบริโอ คอเลอเร, ซาลโมเนลลา, ลิสทีเรีย โมโนไซโตจีเนส และสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส และพยาธิตัวกลมกลุ่มอนิสซาคิส (Anisakidae) โดยพบว่า จุลินทรีย์ที่บ่งชี้สุขลักษณะการผลิตเกินเกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอาหารและภาชนะสัมผัสอาหาร จำนวน 37 ตัวอย่าง ส่วนจุลินทรีย์ที่ก่อโรคอาหารเป็นพิษเกินเกณฑ์ฯ 7 ตัวอย่าง แต่ตรวจไม่พบพยาธิกลุ่มอนิสซาคิส

การปนเปื้อนของจุลินทรีย์อาจเกิดจากการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม หรือปนเปื้อนจากน้ำทะเลตามธรรมชาติ รวมไปถึงการปนเปื้อนขณะแล่และหั่นปลาดิบ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการปนเปื้อนมาจากอาหารดิบอื่น ๆ โดยการใช้อุปกรณ์เครื่องครัว เช่น มีด เขียงและภาชนะร่วมกัน โดยไม่ได้ล้างให้สะอาด แต่บางกรณีการปนเปื้อนเชื้อซาลโมเนลลาและอีโคไล ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้ในอุจจาระของคน และสัตว์นั้นอาจมาจากผู้ประกอบการมีสุขลักษณะส่วนบุคคลที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่ล้างมือให้สะอาดภายหลังการเข้าห้องน้ำ” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว

นพ.อภิชัย กล่าวว่า ทั้งนี้ การเลือกซื้อเนื้อปลาทะเลที่แล่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ควรสอบถามแหล่งที่มาของปลา และเลือกปลาที่เตรียมแบบ sashimi grade บรรจุในภาชนะที่ปิดเรียบร้อย เพื่อป้องกันการปนเปื้อน และเก็บรักษาในอุณหภูมิแช่เย็นตลอดอายุการจำหน่าย เพื่อควบคุมการเพิ่มปริมาณของเชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากเป็นอาหารที่เน่าเสียง่าย จึงควรรีบรับประทานให้หมดภายในวันที่ซื้อ ส่วนผู้ประกอบอาหารและผู้แล่ปลา ต้องล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบจับอาหาร และถ้ามีบาดแผลที่มือให้ปิดพลาสเตอร์ และใส่ถุงมือขณะประกอบอาหาร เพื่อลดโอกาสการปนเปื้อนเชื้อสู่อาหาร

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น