xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนสหรัฐฯ หนุนไทยเข้าร่วม TPP “อภิรดี” เตรียมนำข้อดี-ข้อเสียชง กนศ.พิจารณา 29 เม.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อภิรดี” เผยสหรัฐฯ แจกแจงรายละเอียดข้อตกลง TPP ให้ฟังอย่างชัดเจน พร้อมแนะไทยเร่งปรับปรุงกฎระเบียบด้านการค้า การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นสากล ก่อนพิจารณาเข้าร่วม ด้านเอกชนสหรัฐฯ หนุนไทยเข้าร่วมด่วน เหตุก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการค้า การลงทุนชัดเจน เตรียมชง กนศ.พิจารณา 29 เม.ย.นี้

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 20-22 เม.ย. 2559 ที่ผ่านมาว่า ได้หารือกับผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) เกี่ยวกับรายละเอียดของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปชิฟิก (TPP) ซึ่งสหรัฐฯ ได้อธิบายถึงเนื้อหาสาระของความตกลงว่าเป็นอย่างไร มีรายละเอียดอะไรบ้าง และไทยยังได้สอบถามในเรื่องที่มีความกังวล เช่น รายละเอียดของข้อตกลงที่เกี่ยวกับเรื่องยา และเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น ซึ่งสหรัฐฯ ได้ชี้แจงรายละเอียดในแต่ละเรื่องอย่างชัดเจน

“สหรัฐฯ ได้ให้ข้อแนะนำไทยว่าหากจะเข้าร่วมความตกลง TPP ขอให้เร่งปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ กฎเกณฑ์ทางการค้า การลงทุน และเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เพราะกฎระเบียบของไทยบางอย่างยังล้าสมัย ต้องปรับให้มีความเป็นสากลมากขึ้น เพราะ TPP เป็นข้อตกลงที่มีความเข้มข้น”

ทั้งนี้ ไทยยังได้หารือกับสภาหอการค้าสหรัฐฯ (USCC) ซึ่งภาคเอกชนสหรัฐฯ สนับสนุนให้ไทยเข้าร่วม TPP เพราะปัจจุบัน แม้ไทยยังคงได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) จากสหรัฐฯ และไม่เสียเปรียบ 12 ประเทศที่เข้าร่วม TPP แล้ว แต่ก็ไม่มั่นคงเหมือนกับการเข้าร่วม TPP ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าทั้งในด้านการค้าและการลงทุน

ขณะเดียวกัน เอกชนสหรัฐฯ ได้แนะนำเทคนิคในการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนซึ่งได้มีการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นทั้งจากบริษัทขนาดใหญ่ และ SMEs กว่า 3,000 รายทั่วสหรัฐฯ เพื่อรับฟังประเด็นที่ต้องการให้รัฐบาลเจรจา และข้อกังวลในการเจรจา ซึ่งไทยจะนำมาปรับใช้สำหรับการเตรียมการของไทยต่อไป ทั้งนี้ จะมีการเสนอรายเอียด ข้อดี ข้อเสีย การเข้าร่วมข้อตกลง TPP ให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) พิจารณาในวันที่ 29 เม.ย. 2559 นี้

นางอภิรดีกล่าวว่า ยังได้หารือกับกลุ่มบริษัทผู้ผลิตสินค้ากระเป๋าถือและกระเป๋าเดินทางชั้นนำของสหรัฐฯ ได้แก่ Coach, Michael Kors และ Under Armor ทั้ง 3 รายมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าที่ผลิตในไทย และมีแผนที่จะเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทยเพิ่มขึ้นเพื่อผลิตสินค้าป้อนเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ หากไทยได้รับ GSP ในสินค้าดังกล่าวจากสหรัฐฯ

“ได้แจ้งกับภาคเอกชนสหรัฐฯ ว่าขณะนี้ไทยได้ขอเพิ่มรายการสินค้าที่ได้ GSP อีก 27 รายการ และขอให้ช่วยสนับสนุนไทย โดยเอกชนบอกว่าพร้อมที่จะช่วยสนับสนุนเต็มที่ รวมทั้งจะช่วยล็อบบี้รัฐบาลสหรัฐฯ ให้พิจารณาให้ GSP กับไทยด้วย แต่ก็ได้แจ้งเพิ่มเติมว่าในระยะยาว ขอให้ไทยเข้าเป็นสมาชิก TPP เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่เอกชนสหรัฐฯ ในการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีอย่างถาวร เพราะ GSP เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ต่อไปอาจจะได้หรือไม่ได้ก็ได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น