“พาณิชย์” โต้ข่าวเพี้ยน หลังลือ คสช.ไม่อนุญาต “พิชัย” อดีต รมว.พลังงานไปสหรัฐฯ จะส่งผลให้ไทยถูกตัดสิทธิ GSP ยันโยงกันมั่ว ไม่มีข้อเท็จจริง ย้ำกระบวนการทบทวน GSP อยู่ระหว่างการพิจารณาของสหรัฐฯ และล่าสุดมีสมาพันธ์แรงงานสหรัฐฯ ขอให้ถอดไทยออกจากประเทศที่ได้รับสิทธิ อ้างไม่คุ้มครองแรงงาน แต่ไทยได้มีการชี้แจงจนเข้าใจแล้ว
น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่มีผู้ให้ข่าวเกี่ยวกับการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่อนุญาตให้นายพิชัย นริพทะพันธ์ อดีต รมว.พลังงาน เดินทางไปสหรัฐฯ จะส่งผลต่อการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ว่า เป็นข่าวที่ไม่ถูกต้องและคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง โดยการพิจารณาทบทวนโครงการ GSP ของสหรัฐฯ มีการดำเนินการเป็นประจำทุกปีกับทุกประเทศที่ได้รับสิทธิ ซึ่งในการทบทวนดังกล่าวสหรัฐฯ เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถยื่นคำร้องทั้งในเรื่องการเปลี่ยนแปลงรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ (Product Petitions) และการได้รับสิทธิ GSP รายประเทศ (Country Practices)
ส่วนการทบทวนโครงการ GSP ประจำปี 2558 ขณะนี้สำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ หรือ USTR อยู่ระหว่างกระบวนการการพิจารณาคำร้องของไทยในการขอเพิ่มเติมรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ รวมทั้งการขอคงสิทธิ GSP ในสินค้าบางรายการ
ทั้งนี้ ในระหว่างกระบวนการพิจารณา USTR ได้รับพิจารณาคำร้องถอดถอนไทยจากการเป็นประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP ของสมาพันธ์แรงงานสหรัฐ (AFL-CIO) ที่ร้องเรียนว่าไทยมิได้ดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล ซึ่ง AFL-CIO ได้พยายามยื่นคำร้องดังกล่าว มาตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2556 แต่รัฐสภาสหรัฐฯ ในขณะนั้นยังไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายต่ออายุโครงการ GSP ส่งผลให้การพิจารณาคำร้องต่างๆ รวมทั้งคำร้องของ AFL-CIO หยุดชะงักลงชั่วคราว
อย่างไรก็ตาม AFL-CIO ได้ยื่นคำร้องในประเด็นดังกล่าวซึ่งเป็นเรื่องเดิมอีกครั้ง และ USTR รับคำร้องของ AFL-CIO เข้าสู่กระบวนการพิจารณา เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 โดยเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2559 ผู้แทนไทยได้เข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการ GSP ของ USTR กรณีข้อร้องเรียน AFL-CIO ณ กรุงวอชิงตัน โดยเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการดำเนินการคุ้มครองสิทธิแรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลมาโดยลำดับ
“ในการชี้แจงดังกล่าวทางฝ่ายสหรัฐฯ ย้ำกับฝ่ายไทยว่า ไม่ได้ต้องการตัดหรือยกเลิก GSP ไทย เพียงแต่ต้องการทำงานร่วมกันและต้องการสนับสนุนให้ประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการปรับมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล ดังนั้น ประเด็นเรื่องการพิจารณาของสหรัฐที่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิ GSP ไทย จึงเป็นกระบวนการทบทวนตามปกติ และไม่มีความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงใดๆ กับกรณีการห้ามเดินทางไปสหรัฐฯ ของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตามที่เป็นข่าว” น.ส.บรรจงจิตต์กล่าว