xs
xsm
sm
md
lg

“ผาแดง” ยุติธุรกิจสังกะสีสิ้นปี 60 หันมารุกพลังงานทดแทน-บริหารจัดการกากของเสีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ผาแดงอินดัสทรี” ปิดฉากธุรกิจสังกะสีในสิ้นปี 60 หลังดำเนินการกว่า 30 ปี เหตุแหล่งแร่ที่เหมืองแร่แม่สอดหมด ไม่คุ้มนำเข้ามาถลุง หันไปรุกธุรกิจพลังงานชีวมวล โดยอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อกิจการ รวมทั้งสนใจเข้าร่วมทุนโครงการกำจัดขยะชุมชนจังหวัดตากด้วย

นายฟรานซิส แวนเบลเลน กรรมการผู้จัดการบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) (PDI) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติให้ยุติธุรกิจสังกะสีในสิ้นปี 2560 หลังจากเหมืองแร่แม่สอดปิดดำเนินการในสิ้นปีนี้ และที่โรงงานระยองจะหยุดดำเนินการในปลยปีนี้เช่นกัน เนื่องจากการนำเข้าแร่เพียงอย่างเดียว ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากอเมริกาใต้และออสเตรเลียจะมีราคาสูงมากไม่คุ้มกับรายได้ และอาจจะส่งผลให้บริษัทขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

ยิ่งกว่านั้นยังมีปัจจัยเสริมจากราคาโลหะสังกะสีโลกที่ตกต่ำและปริมาณความต้องการโลหะสังกะสีของอุตสาหกรรมในไทยที่ลดลงด้วยแล้ว จึงไม่มีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นทั้งในด้านราคาโลหะสังกะสีและสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญ

ส่วนโรงถลุงสังกะสีจังหวัดตากกิจกรรมส่วนใหญ่จะดำเนินการถึงสิ้นปีนี้ โดยยังมีการหลอมโลหะสังกะสีแท่งบริสุทธิ์และโลหะสังกะสีผสมจนถึงครึ่งหลังของปี 2560 สำหรับหน่วยงานสนับสนุนขององค์กรทั้งหมดในสำนักงานกรุงเทพฯ จะปรับลดลงให้สอดคล้องกับกิจกรรมที่ยังเหลืออยู่ใน จ.ตาก และ จ.ระยอง รวมถึงการลงทุนในธุรกิจใหม่

นายฟรานซิสกล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการบริษัทฯ ได้ตัดสินใจเร่งรัดโครงการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนบริษัทให้เข้าสู่ธุรกิจที่มีความยั่งยืน เช่น ธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจรีไซเคิล ธุรกิจการจัดการกากของเสีย และธุรกิจผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มจากโลหะต่างๆ หลายโครงการในกลุ่มธุรกิจที่กล่าวมานี้อยู่ในช่วงศึกษาความเป็นไปได้ขั้นสุดท้ายและจะดำเนินการสร้างรายได้และผลกำไรโดยเร็ว

ทั้งนี้ ในปี 2558 รายได้จากธุรกิจสังกะสียังคงเป็นบวก แม้ว่าปริมาณการขายในประเทศจะลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและราคาโลหะสังกะสีโลกที่ปรับลดลงมาก ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการผลิตกับปริมาณความต้องการใช้โลหะสังกะสีโลกมีความไม่สมดุลกัน ส่วนปัจจัยบวกที่ส่งผลให้บริษัทยังคงมีกำไรมาจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า และค่าพลังงานที่ต่ำลงรวมทั้งการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ลงได้อย่างต่อเนื่อง

ในปี 2559 จนถึงช่วงหนึ่งของปี 2560 การผลิตโลหะสังกะสียังคงดำเนินการอยู่ตามปริมาณแร่สำรองของเหมืองแม่สอดที่เหลืออยู่ โดยจะนำเข้าแร่เพิ่มเติมมาใช้ร่วมกันแต่ยังให้ผลตอบแทนที่ดี บริษัทฯ มั่นใจว่าจะมีสินค้าจัดส่งให้ลูกค้าอย่างแน่นอน ซึ่งผลการดำเนินงานจากธุรกิจสังกะสีในปีนี้และปีหน้าคาดว่าน่าจะดี แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับราคาโลหะสังกะสีโลกและปริมาณความต้องการใช้ในประเทศ รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐเป็นสำคัญ

หลังจากปี 2560 เป็นต้นไป การดำเนินกิจกรรมด้านสังกะสีจะเป็นการรีไซเคิลอย่างสิ้นเชิงโดยมีแหล่งวัตถุดิบจากในประเทศและอาจจะนำเข้า ซึ่งไม่ต้องนำมาผ่านกระบวนการแยกสังกะสีด้วยไฟฟ้าแบบเดิมที่โรงถลุงตากซึ่งมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานสูง พร้อมกันนี้บริษัทฯ จะมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มเป็นหลัก

นอกจากนี้ บริษัทฯ จะมุ่งลงทุนในโครงการพลังงานทดแทนจะให้ความสำคัญกับโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ขณะเดียวกันก็สนใจโรงไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แต่ยังติดเรื่องสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หรือ PPA โดยบริษัทมีแผนที่จะซื้อกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลหลายโครงการ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะกิจการ (due diligence) และหากได้รับการยืนยันผลในเชิงบวก บริษัทคาดว่าจะดำเนินการได้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นภายในปีนี้ สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีอยู่ระหว่างการทบทวนโครงการเนื่องจากยังมีประเด็นข้อห่วงใยของชุมชน ซึ่งบริษัทให้ความสำคัญอย่างมาก โดยคาดว่าจะมีข้อสรุปในอีกไม่นานนี้

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 50 เมกะวัตต์ โดยจะตั้งอยู่บนบ่อเก็บกากแร่ที่โรงงานตาก ซึ่งไม่มีปัญหาใดๆ ในด้านเทคนิค และโครงการนี้ยังมีความพร้อมในการส่งกระแสไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งด้วย ขาดเพียงอย่างเดียวคือการได้รับอนุมัติสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเท่านั้น

ส่วนพีดีไอ-อีโคมุ่งดำเนินธุรกิจบริหารจัดการกากของเสียอย่างยั่งยืนในพื้นที่โรงงานตาก โดยได้เจรจากับบริษัทชั้นนำในต่างประเทศที่ดำเนินธุรกิจด้านนี้จนได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการร่วมลงทุนเพื่อกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรมที่ไม่อันตรายในพื้นที่ภาคเหนือของไทยโดยจะตั้งอยู่ที่โรงงานตาก ผลการศึกษาความเป็นไปได้พบว่ามีศักยภาพในการบริหารจัดการเชิงนิเวศในรูปแบบคอมเพล็กซ์ด้านการจัดการกากของเสีย ซึ่งได้เลือกเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้แล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อปฏิบัติต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย คาดว่าพีดีไออีโคจะลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU)และข้อตกลงระหว่างผู้ถือหุ้น (SHA) ในอีกไม่นานนี้

นอกจากนี้ยังได้รับการเชิญชวนจากจังหวัดตากให้เข้าร่วมประมูลโครงการจัดการขยะชุมชนด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีเยี่ยมของโรงงานตาก ตลอดจนความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อชุมชน ทำให้พีดีไอได้รับความไว้วางใจในการเป็นพันธมิตรธุรกิจ ผลการศึกษาเบื้องต้นได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วและจะนำเสนอหน่วยราชการต่อไป โครงการดังกล่าวนี้ พีดีไอกำลังหารือกับผู้ร่วมทุนที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญด้วยเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จ โดยโรงงานที่ตากมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้กับโครงการนี้เมื่อสิ้นปี 2560 ไปแล้ว

ด้านพีดีไอแมททีเรียล ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของพีดีไอได้ร่วมทุนกับบริษัทคาร์บอน รีดักชั่น เทคโนโลยี (CRT : Carbon Reduction Technology AS) ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านรีไซเคิลของสแกนดิเนเวีย โดยร่วมกันจัดตั้งบริษัท พีดีไอ-ซีอาร์ที จำกัด ขึ้น เพื่อดำเนินธุรกิจสกัดสังกะสีจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากโรงงานอุตสาหกรรมโดยผ่านกระบวนการซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ใช้อุณหภูมิสูงมากเป็นพิเศษ ( UHT : Ultra-high-temperature) บริษัท พีดีไอ-ซีอาร์ที ได้รับสิทธิเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยที่จะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ได้โดยได้รับสิทธิดังกล่าวจากบริษัท สแกนอาร์ค พลาสมา เทคโนโลยี ประเทศสวีเดน ซึ่งในเอเชียยังไม่มีประเทศใดนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ โดยเป็นเทคโนโลยีที่สามารถรีไซเคิลของเสียอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความคุ้มค่าสูงสุดในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2561 ที่โรงงานพีดีไอระยอง
กำลังโหลดความคิดเห็น